ศิลปะแห่งองค์พระผงสุพรรณ

small-buddha-images7.jpg

         

จากสำเนาจารึกลานทองที่ค้นพบกล่าวถึงการสร้างพระผงสุพรรณไว้ ความว่า

              “ศุภมัสดุ 1265  สิทธิการิยะ แสดงบอกไว้ให้รู้ว่าฤาษีทั้งสี่ตนพระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประธาน  เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์ มีสุวรรณเป็นต้น คือ บรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราช  เป็นผู้มีศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตนจึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย  พระฤาษีจึงอัญเชิญเทวดามาช่วยกันทำพิธีเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งแดง  สถานหนึ่งดำ  ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัสสะสี  ศรีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น  ได้เอาแร่ต่าง ๆ มีอานุภาพต่างกัน  เสกด้วยมนต์คาถาครบ  ๓  เดือน  แล้วท่านให้เอาไปประดิษฐ์ไว้ในสถูปแห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม ถ้าผู้ใดพบเห็นให้รับเอาไปไว้สักการบูชาเป็นของวิเศษ  แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี  ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ  อาจคุ้มครองภยันตรายได้ทั้งปวง  เอาพระสงสรงน้ำมันหอม  แล้วนั่งบริกรรม 

พุทธคุณ  ธรรมคุณ  สังฆคุณ  ๑๐๘  จบ  พาหุง  ๑๓  จบ ใส่ชันสัมฤทธิ์  นั่งสันนิษฐานเอาความปรารถนาเถิดให้ทาทั้งหน้าและผม  คอหน้าอก  ถ้าจะใช้ทางเมตตา  ให้มีสง่า  เจรจาให้คนทั้งหลายเชื่อฟังยำเกรง  ให้เอาพระไว้ในน้ำมันหอม  เสกด้วยคาถานวหรคุณ ๑๓  จบ  พาหุง  ๑๓  จบ  พระพุทธคุณ  ๑๓ จบ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนทำพิธีในวันเสาร์  น้ำมันหอมเก็บไว้ใช้ได้เสมอทาริมฝีปาก  หน้าผาก  และผม  ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้  พระว่านก็ดี  พระเกสรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี  อย่างประมาทเลย อานุภาพพระทั้ง  ๓  อย่างนี้ดุจกำแพงแก้วกันอันตรายทั้งปวงแล้วให้ว่าคาถาทแยงแก้วกันอันตรายทั้งปวง แล้วให้ว่าคาถาทแยงสันตาจนจบพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณจนจบพาหุงไปจนจบแล้วให้ว่าดังนี้อีก กะเตสิกเกกะระณังมหาไชยังมังคะ  สังนะมะพะทะ แล้วให้ว่า  กิริมิติ  กุรุมุธุ  เกเรเมเถ  กะระมะทะประสิทธิแล”

        พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  สุพรรณบุรี  นับเป็นพระเครื่องเลื่องชื่อ ถูกบรรจุอยู่ในชุด “เบญจภาคี” ซึ่งมีทั้งเนื้อดินและเนื้อชินเงิน  ที่เรียกว่า  “พระผงสุพรรณยอดโถ” 
        แต่สาเหตุที่เรียกว่า “ผงสุพรรณ” ก็เนื่องจากการค้นพบจารึกลานทองกล่าวถึงการสร้างจากผงว่านเกสรดอก
ไม้อันศักดิ์สิทธิ์  จึงได้รับการเรียกขานกันว่า “ผงสุพรรณ” เรื่อยมา  โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น ๓ พิมพ์
        ๑.  พระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้าแก่
        ๒.  พระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้ากลาง
        ๓.  พระผงสุพรรณ  พิมพ์หนาหนุ่ม

        ศิลปะพระผงสุพรรณมีความสัมพันธ์กับศิลปะพระพุทธรูปประเภทหนึ่ง ได้แก่  พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง  เนื่องมาจากแหล่งต้นกำเนิดของพระผงสุพรรณอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของศิลปะทางศาสนาที่เรียกว่า ศิลปะอู่ทองประการหนึ่ง  นอกจากนี้ ลักษณะการแบ่งแม่พิมพ์พระผงสุพรรณยังจำแนกและเรียกชื่อแม่พิมพ์ตามพุทธลักษณะของพระพุทธรูปอู่ทอง  ซึ่งได้แก่  พิมพ์หน้าแก่  พิมพ์หน้ากลาง  และพิมพ์หน้าหนุ่ม  อีกด้วย

        ในความเป็นจริงแล้วศิลปะอู่ทองเป็นศิลปะแห่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมัยทวาราวดีกับสมัยขอมหรือเขมร  ต่อมาช่วงหลังได้ผสมผสานศิลปะของสุโขทัยเข้าไปด้วย  จนกลายเป็นพุทธศิลปะที่เกิดจากการผสมผสานโดยมีอายุตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖  จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่  ๑๙  กล่าวคือ  เมื่อสิ้นยุคทวาราวดีขอมได้มีอำนาจ  ในดินแดนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  แต่ศิลปกรรมแห่งทวาราวดียังคงสืบทอดต่อเนื่อง โดยผสมผสานศิลปะของขอมเข้าไป ก่อนที่สุโขทัยจะกลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐและความเจริญทางด้านพุทธศาสนาต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา  ศิลปะอู่ทองเดิมจึงผสมผสานกับศิลปะสุโขทัยอีกชั้นหนึ่ง  ซึ่งเราอาจแยกประเภทศิลปะของอู่ทองได้ดังนี้
        ๑. ศิลปะอู่ทองยุคแรก  มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘  ศิลปะจะเป็นแบบผสมผสานระหว่างศิลปะทวาราวดีกับศิลปะขอม สามารถจำแนกออกเป็น
           -  ศิลปะอู่ทอง สกุลช่างลพบุรี  รู้จักกันในชื่อ “อู่ทองเขมร”  “อู่ทอง-ลพบุรี” หรือ “อู่ทอง-ฝาละมี”
           -  ศิลปะอู่ทอง สกุลช่างสุพรรณบุรี รู้จักกันในชื่อ “อู่ทอง-สุวรรณภูมิ” มีลักษณะคล้ายมนุษย์มาก ท่างดงามสุดยอด จะเรียกตามภาษาวงการพระว่า “สันแข้งคางคน”
        ๒. ศิลปะอู่ทองยุคที่สอง มีอายุอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙  ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ศิลปะจะผสมผสานระหว่างศิลปะอู่ทองยุคแรกกับศิลปะสุโขทัย  ช่างสมัยจะคาบเกี่ยวกันระหว่างศิลปะสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น รู้จักกันในชื่อ “อู่ทอง-อยุธยาตอนต้น” 

        ๓.  ศิลปะอู่ทองยุคที่สาม มีอายุอยู่ในราว พ.ศ.๑๙๕๒ - ๑๙๙๑  อยู่ในช่วงสมัยสมเด็จพระนครินทราชา  สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) จนถึงต้นรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ  ศิลปะจะได้รับอิทธิพลของอยุธยามากขึ้น (จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณข้างศาลาหลวงพ่อเหย ด้านทิศตะวันตกห่างจากองค์ปรางค์ประธาน  ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  ๓๐ เมตร  พบแม่พิมพ์พระดินเผา  ขนาดกว้าง  ๓  ซ.ม.  สูง  ๔๒  ซ.ม.  เป็นแม่พิมพ์พระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้าแก่แต่ท่อนล่างหกชำรุด)

small-buddha-images8.jpg

พุทธเอกลักษณ์พระผงสุพรรณ
 
    พระผงสุพรรณเป็นพระเครื่องที่พบในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  จ.สุพรรณบุรี  เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา  จำลองพุทธลักษณะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในลักษณะการปางมารวิชัย  แบ่งแยกแม่พิมพ์ได้เป็นพิมพ์หน้าแก่  พิมพ์หน้ากลาง  และพิมพ์หน้าหนุ่ม  (สมัยโบราณเรียกพิมพ์หน้าหนู)  องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย  บนฐานเชียงชั้นเดียว  พระเกศคล้ายฝาละมี  มีกระจังหน้า  พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่  พระอุระหนา ส่วนพระการทอดเรียว  แสดงออกถึงศิลปะสกุลช่างอู่ทองที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด  ด้วยเหตุนี้  เมื่อพบพิมพ์พระ  ๓  ประเภท จึงเรียกชื่อตามลักษณะพระพักตร์และตามศิลปะสกุลช่างแห่งพระพุทธรูปที่พระพักตร์เหี่ยวย่นเหมือนคนแก่  เรียกว่า พิมพ์หน้าแก่  ที่พระพักตร์อิ่มเอิบเรียวเล็ก  ปราศจากรอยเหี่ยวย่น  เรียกว่าพิมพ์หน้าหนุ่ม

    พระผงสุพรรณนั้นปรากฏตามจารึกลานทองกล่าวถึงการสร้างว่า  “……..พระฤๅษีทั้งสี่ตนจึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย  พระฤๅษีจึงอัญเชิญเทวดามาช่วยกันทำพิธีเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งแดง สถานหนึ่งดำ ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัสสะสี  ศรีสารีบุตรคือ  เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น ได้เอาแร่ต่าง ๆ  มีอานุภาพต่างกัน  เสกด้วยมนต์คาถาครบ  ๓  เดือน แล้วท่านให้เอาไปประดิษฐ์ไว้ในสถูปแห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม… ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้  พระว่านก็ดี  พระเกสรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี……”

    ความหมายจากจารึกลานทองได้กล่าวถึงประเภทของพระผงสุพรรณไว้  ๒  ชนิด ได้แก่ พระเนื้อดินที่มีส่วนผสมจากว่านและเกสรต่าง ๆ  โดยเป็นพระเนื้อดินเผาตามกรรมวิธีการสร้างพระพิมพ์สมัยโบราณ สีพระผงสุพรรณจึงเป็น “สถานหนึ่งดำ  สถานหนึ่งแดง”  และอีกชนิดหนึ่งได้แก่  พระผงสุพรรณที่ทำจากแร่ธาตุโลหะซึ่งเรียกตามจารึกว่า “ได้เอาแร่ต่าง ๆ มีอานุภาพต่างกัน….ถ้าผู้ใดพบพระ…..ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี”  ซึ่งหมายถึงพระผงสุพรรณเนื้อชินที่รู้จักกันในชื่อ  “พระผงสุพรรณยอดโถ”

    สำหรับพระผงสุพรรณเนื้อดินนั้น  เป็นพระเครื่องที่มีส่วนผสมวัสดุมวลสารจากดินละเอียด ว่าน และเกสรต่าง ๆ  คนโบราณเรียกว่า  “พระเกสรสุพรรณ”  จะสังเกตได้ว่าเนื้อดินของพระผงสุพรรณเป็นเนื้อดินค่อนข้างละเอียด  หากเปรียบเทียบกับพระนางพญากรุวัดนางพญา  จ.พิษณุโลก  แล้วจะเห็นว่าเนื้อพระผงสุพรรณจะละเอียดกว่า  แต่ไม่ละเอียดมากเหมือน  พระรอดกรุวัดมหาวัน  จ.ลำพูน  ซึ่งดินที่ใช้เป็นดินในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี  ซึ่งดินแต่ละที่จะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน  สำหรับปัญหาที่ว่า  หากผสมว่านเมื่อพระผ่านการเผา  มวลสารของว่านจะไม่สามารถทนอุณหภูมิความร้อนได้  ต้องย่อยสลายไปนั้น  หากพิจารณาแล้วในองค์พระผงสุพรรณก็ไม่ปรากฏโพรงอากาศอันเกิดจากการย่อยสลายของเนื้อว่าน  แต่อย่างใดนั้น ต้องพิจารณาถึงกรรมวิธีการสร้างพระของโบราณาจารย์เป็นสำคัญว่า  มีหลายวิธี  วิธีประการหนึ่งซึ่งพบหลักฐานในการนำว่านผงเกสรมงคล  ๑๐๘  มาเป็นวัตถุมงคลในการสร้างพระ  ได้แก่ การนำหัวว่านมงคลต่าง ๆ มาคั้นเอาน้ำว่านเป็นส่วนผสมเข้ากับมวลสารอื่น ๆ ซึ่งจะพบว่าพระผงสุพรรณนั้นมีความหนึกนุ่ม  และซึ้งจัด  หากได้โดนเหงื่อโคลนแล้ว ยิ่งขึ้นเป็นมันเงางามอย่างที่คนโบราณเรียกว่า  “แก่ว่าน”  ซึ่งได้แก่การคั้นน้ำว่านผสมลงไป  ดังนั้น  เมื่อผ่านการเผาจึงมิได้เกิดการย่อย สลายของเนื้อว่าน

    เนื่องจากพระผงสุพรรณเนื้อดินเป็นพระที่ผ่านการเผาไฟ  สีสันขององค์พระจึงเป็นเฉกเช่นเดียว  กับพระเนื้อดินที่ผ่านการเผาประเภทอื่น ๆ คือ มีตั้งแต่สีเขียวที่ถูกเผาในอุณหภูมิสูงและนานที่สุด สีแดง  สีมอย  สีน้ำเงินเข้ม สีเทา  ไปจนถึงสีดำ

    การสร้างพระพิมพ์เนื้อดินเผา  มีมาแต่สมัยโบราณโดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างควบคู่มากับเทคนิคการทำเครื่องปั้น  ดินเผา โดยเฉพาะดินแดนประเทศไทยนั้น พบพระพิมพ์ดินเผาตั้งแต่ยุคทวาราวดีเรื่อยมา  ในศิลาจารึกหลักที่  ๒ วัดศรีชุม ซึ่งจารึกโดยพระมหาเถรศรีศรัทธา (พ.ศ. ๑๘๙๐ - ๑๙๑๗)  ได้กล่าวถึงปาฏิหารย์ของพระเกศธาตุโดย  เปรียบเทียบกับการเผาดินโดยแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีในการควบคุมอุณหภูมิดังความว่า “พระเกศ ธาตุเสด็จมี  หมู่หนึ่งซีดัง  สายฟ้าแลบดังแถวน้ำแล่นในกลางหาวอัศจรรย์  สิ่งหนึ่งเห็นตะวันออกเขียวดังสูงเผาหม้อเผาไห”  ซึ่งจากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า  สีของเปลวไฟที่ออกเป็นสีเขียว  จะต้องมอุณหภูมิถึง  ๑,๓๐๐ - ๑,๔๐๐  องศาเซนเซียส  ซึ่งจะกระทำได้เมื่อมีเทคโนโลยีการสร้างเตาเผา การให้ความร้อนและการควบคุมอุณหภูมิอย่างดีเยี่ยม 

–~~~~~~~~~~~~–

การเผาเนื้อดินของพระผงสุพรรณ เป็นการเผาที่ควบคุมอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอและเผาในอุณหภูมิสูงโดย  ใช้เทคโนโลยีในการเผาเช่นเดียวกัน การทำเครื่องปั้นดินเผา  โดยเฉพาะในบริเวณแถบสุพรรณบุรี-สิงห์บุรี  ปรากฏแหล่งเตาเผาที่แสดงถึงเทคโนโลยีชั้นสูงที่บ้านบางปูน สุพรรณบุรีและเตาแม่น้ำน้อยฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อยวัดพระปรางค์  อ.ชันสูตร  สิงห์บุรี  ซึ่งมีอายุในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น  จนถึงรัชสมัยพระนครินทราชา

    การเผาโดยวิธีควบคุมอุณหภูมิส่งผลให้พระผงสุพรรณมีสภาพความแกร่งคมชัด  ไม่หักเปราะง่าย  แม้จะผ่านกาลเวลาเป็นนาน คนโบราณ  จะใช้วิธีสังเกตสีของเปลวไฟที่ลุกไหม้  เป็นหลักในการควบคุมอุณหภูมิการเผาจากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า
    -  ไฟที่มีสีแดงจัดจ้า อุณหภูมิประมาณ  ๘๐๐  องศาเซนเซียส
    -  ไฟที่มีสีแดงธรรมดา  อุณหภูมิประมาณ  ๘๘๐  องศาเซนเซียส
    -  ไฟสีส้ม อุณหภูมิประมาณ  ๙๕๐ - ๑๑๐๐  องศาเซนเซียส
    -  ไฟสีนวล  อุณหภูมิประมาณ ๑,๓๐๐  องศาเซนเซียส
    -  ไฟสีเขียว  อุณหภูมิประมาณ  ๑,๓๐๐ - ๑,๔๐๐  องศาเซนเซียส

    พระผงสุพรรณ  จะใช้วิธีการเผา  โดยควบคุมอุณหภูมิที่  ๑๑๐๐ - ๑๓๐๐ องศาเซนเซียส  องพระจะแกร่งส่วนใหญ่จะมีสีแดง  ส่วนสีอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการถูกความร้อนมาก - น้อย ต่าง ๆ กัน ดังนั้นพระผงสุพรรณจึงเป็นพุทธปฏิมากรดินเผาที่แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเผาพระพิมพ์อย่างมีคุณภาพ

    เอกลักษณ์ประการหนึ่งของพระผงสุพรรณก็คือ  ด้านหลังองค์พระจะมีลอยลายนิ้วมือซึ่งเป็นการกดเมื่อนำดินใส่ลงในแม่พิมพ์ในจารึกลานทองกล่าวไว้ว่า “ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน  พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัสสะสี  ศรีสารีบุตร  คือ  เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั่น”  ลายมือที่ปรากฏจะเป็นลายนิ้วมือ หัวแม่โป้งแบบ “ก้นหอย”  ขนาดใหญ่  ซึ่งเป็นลักษณะลายมือของคนโบราณ ส่วนการตัดขอบ  นั้นมักจะตัดเป็นรูปตามองค์พระด้านฐานผายกว้าง  ด้านบนสอบเข้า  โดยเฉพาะขอบข้างพระเศียรอาจตัดเป็นเหลี่ยม  มุมทำให้กรอบพระผงสุพรรณมีห้าเหลี่ยมบ้าง  สี่เหลี่ยมบ้าง  ไม่สู้จะเสมอเหมือนกัน

เอกลักษณ์ในแม่พิมพ์
 
 small-buddha-images10.jpg        small-buddha-images11.jpg

   

 แม่พิมพ์มีความสำคัญในการพิจารณาพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง  พุทธเอกลักษณ์ของแม่พิมพ์  นอกจากจะแสดงถึงศิลปะของสกุลช่างที่ปรากฏยังเป็นสิ่งพิสูจน์ความแท้-เทียมขององค์พระ  การแกะสลักแม่พิมพ์ไม่ว่าจะเป็นหินสบู่  หินชนวน  หรือแม่พิมพ์ดินเผา  จะเป็น “ต้นแบบ”  ที่ยากจะทำเลียนแบบได้  หากนำองค์พระไปถอดพิมพ์เพื่อทำพิมพ์ใหม่  องค์พระจะมีขนาดเล็กลง  ซึ่งในสายตาผู้ชำนาญการจะสังเกตได้ จุดสังเกตที่ภาษานักสะสมพระเรียกว่า “จุดตาย”  นั้นก็คือเอกลักษณ์หรือตำหนิในแม่พิมพ์  โดยเฉพาะส่วนลึกที่สุดขององค์พระ จะเป็นส่วนสูงที่สุดของแม่พิมพ์ซึ่งไม่คลาดเคลื่อนไม่ว่าพระองค์นั้นจะกดลึกหรือกดตื้น  แต่ตำหนิสำคัญก็จะคงอยู่ สำหรับพระผงสุพรรณนั้น  สามารถแยกแม่พิมพ์ออกเป็น  ๓  แบบด้วยกันคือ  พิมพ์หน้าแก่  พิมพ์หน้ากลาง  และพิมพ์หน้าหนุ่ม

    พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ นั้นเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาศิลปะอู่ทอง ประทับนั่งปางมารวิชัย  บานฐานเชียง  พระพักตร์มีเค้าความเหี่ยวย่น  คล้ายคนชราภาพ  เป็นที่มาของชื่อ  “พิมพ์หน้าแก่”  ซึ่งมีจุดสังเกตดังนี้
    -  พระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้าแก่  มีเพียงแม่พิมพ์เดียว  สาเหตุที่ดูเผิน ๆ  แตกต่างกันนั้น  เนื่องมาจากการผ่านการเผา  ทำให้ได้รับความร้อนไม่เท่ากัน  ส่งผลให้ขนาด  สีสัน วรรณะ  การหดตัวไม่เท่ากัน นอกจากนี้การตัด  การบรรจุกรุ  สภาพการใช้ยังส่งผลต่อการพิจารณาพระผงสุพรรณด้วย
    -  พระเนตรด้านซ้ายขององค์พระยาวรีลึก  ปลายพระเนตรตวัดขึ้นสูงกว่าพระเนตรด้านขวา
    -  พระนาสิกหนาใหญ่  สองข้างมีร่องลึกลงมารับพระโอษฐ์ ซึ่งแย้มเล็กน้อย
    -  พระกรรณขวาขององค์พระจะขมวดคล้ายมุ่นมวยผม  ไรพระศกทอดยาวลงมามากกว่าพระกรรณด้านซ้าย
    -  เกือบบนสุดของพระกรรณขวามีร่องลึก เหมือนร่องหู และพระกรรณด้านบนเหนือร่องจะหนาใหญ่โค้งคล้ายใบหูมนุษย์
    -  ด้านในของพระกรรณซ้ายจะมีเม็ดผดคล้ายเมล็ดข้าวสารวางสลับไปสลับมาเรื่อยมาถึงปลายพระกรรณ
    -  พระอุระใหญ่ก่อนจะคอดกิ่วมาทางพระนาภีคล้ายหัวช้าง
    -  ระหว่างพระอุระกับพระอังสะซ้ายขององค์พระเว้าลึกปรากฏเป็นรอยสามเหลี่ยม
    -  มีเส้นบาง ๆ ลากผ่านเหนือพระอังสะซ้ายไปจรดขอบนอกพระอุระด้านซ้ายปลายเส้นปรากฏเม็ดผดเล็ก ๆ ขึ้นเรียงรายได้ราวนมซ้าย
    -  พระหัตถ์ซ้ายหนาใหญ่อยู่กึ่งกลางลำพระองค์  ปลายพระหัตถ์ไม่จรดพระกรขวา  เหมือนพิมพ์หน้ากลาง  มองเห็นร่องพระหัตถ์ชัดเจน
    -  ข้อพระกรขวาขององค์พระด้านในเว้าลึก

    พระผงสุพรรณพิมพ์หน้ากลาง  มีพุทธลักษณะเนื้อหาทรวดทรงสัณฐานเช่นเดียวกับพระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้าแก่แต่เค้าพระพักตร์จะไม่เคร่งขรึมเหี่ยวย่นเหมือนพิมพ์หน้าแก่  ดูอิ่มเอิบสดใส  คล้ายหน้าหนุ่มที่ไม่สูงวัยมาก  และจะมีแม่พิมพ์เพียงพิมพ์เดียว  มีลักษณะที่น่าสังเกตดังนี้
    -  พระพักตร์อิ่มเอิบ  ไม่เหี่ยวย่นชราภาพเหมือนพิมพ์หน้าแก่
    -  พระเนตรทั้งสองข้างไม่จมลึกเท่าพิมพ์หน้าแก่  ปลายพระเนตรด้านซ้ายขององค์พระตวัดเฉียงขึ้นเล็กน้อย  หากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่ารูปพระพักตร์ระหว่างพระเนตรทั้งสองข้างวางได้ระดับเท่ากันทั้งสองข้างไม่เอียงเหมือนพิมพ์หน้าแก่
    -  พระกรรณทั้งสองข้างจะเป็นเส้นเอียงลงตามเค้าพระพักตร์และมีความยาวเกือบเท่ากันทั้งสองข้าง
    -ในองค์ที่ติดพิมพ์ชัด  ปลายพระกรรณขวาขององค์พระจะเรียวยาวคล้ายจงอยที่ปลายงอเข้าหาด้านในเล็กน้อย  ส่วนปลายพระกรรณซ้ายขององค์พระจะแตกเป็นหางแซงแซว
    -  พระอุระผายกว้างและสอบเพรียวตรงพระนาภีดูคล้ายหัวช้าง
    -  พระหัตถ์ซ้ายวางที่หน้าตัก  แต่ให้สังเกตปลายพระหัตถ์ก็จะยาวยื่นไปเกือบชนลำพระกรขวาขององค์พระ  ซึ่งจะแตกต่างจากพิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้าหนุ่ม
    -  ข้อพระกรขวาเว้าลึกอย่างเห็นได้ชัด
    -  ในองค์ที่ติดชัดข้างฝ่าพระหัตถ์ขวามีติ่ง  เนื้อเกินเล็ก ๆ วิ่งจากโคนนิ้วขึ้นด้านบน

    พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าหนุ่ม เป็นพิมพ์ที่มีความลึก  คมชัดเป็นอย่างยิ่ง  ดูจากสภาพองค์พระที่ปรากฏจะเห็นลักษณะการถอดออกจากแม่พิมพ์ค่อนข้างยากกว่าพระผงสุพรรณพิมพ์อื่น  เหตุเพราะแม่พิมพ์มีความลึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้น  จึงพบองค์สภาพสมบูรณ์น้อยมาก  พระพักตร์จะดูอ่อนเยาว์  สดใสและเรียวเล็กกว่าพิมพ์อื่น สมัยโบราณเรียกว่า “พิมพ์หน้าหนู”  ซึ่งพระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้าหนุ่มนี้มีแม่พิมพ์เดียว มีข้อสังเกตดังนี้
    -  พระพักตร์ดูอ่อนเยาว์  สดใส  แตกต่างจากพิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้ากลางอย่างเห็นได้ชัด
    -  พระเนตรทั้งสอข้างอยู่ในระนาบเดียวกัน  ปลายพระเนตรซ้ายขององค์พระ  ยกเฉียงขึ้นเล็กน้อย
    -  พระนาสิกหนาใหญ่ตั้งเป็นสัน
    -  ริมพระโอษฐ์หนา
    -  พระกรรณจะแตกต่างจากพิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้ากลาง  กล่าวคือ  ตั้งขึ้นเป็นสันแนบชิดกับพระพักตร์และยาวลงมาเกือบจรดพระอังสะทั้งสองข้าง

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...