พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก

พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ กรุวัดนางพญา
พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ กรุวัดนางพญา
พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ กรุวัดนางพญา พิษณุโลกมาให้ชมกัน พระนางพญาพิมพ์นี้ไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนัก คาดว่าน่าจะมีจำนวนพระน้อยกว่าพระพิมพ์อื่นๆ ก็เป็นได้ จึงไม่ค่อยได้พบเห็นพระพิมพ์นี้กันบ่อยนัก และพระพิมพ์นี้ก็เป็นพระที่มีขนาดใกล้เคียงกับพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้งและ พิมพ์เข่าตรง

ก่อนอื่นก็จะพูดถึงวัดนางพญาเสียก่อน วัดนางพญานี้เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา วัดนี้ตั้งอยู่ติดกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ แต่เดิมวัดนางพญาและวัดราชบูรณะมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่พอมีการสร้างสะพานสมเด็จพระนเรศวรและสร้างถนนตัดผ่าน จึงแยกวัดนางพญาและวัดราชบูรณะอยู่กันคนละฝั่งถนน วัดนางพญาจึงเหลืออาณาเขตเล็กๆ เท่านั้น การได้ชื่อว่า “วัดนางพญา”ชื่อของ พระนางพญา น่าจะมาจากสถานที่ที่ค้นพบนั่นเอง วัดนางพญานี้สันนิษฐานว่า ผู้สร้างพระนางพญาคือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระ มเหสีของพระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้นในคราวบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ. 2090 - 2100 ขณะนั้นพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง และพระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นแม่เมืองสองแคว และพระมหาธรรมราชาทรงพระอิสริยยศที่ พระอุปราช แห่งแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ กรุงศรีอยุธยา

พระนางพญา ได้รับอิทธิพลทางพุทธศิลปะมาจากสกุลช่างสุโขทัยในพระราชสำนักโดยตรง ด้วยเมืองพิษณุโลกและสุโขทัยมีความใกล้ชิดกันมาตั้งแต่ราชวงศ์พระร่วงเป็น ใหญ่ในดินแดนภาคเหนือ พิมพ์ทรงของพระนางพญา เด่นชัดมากหากเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ในเรื่องสัดส่วน ทรวดทรง ศิลปะ อาจกล่าวได้ว่า การสร้างพระนางพญาเป็นการสืบสานศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ในรูปพระเครื่องที่ ชัดเจนไม่บิดเบือน

พระนางพญา เป็นพระพุทธปฏิมาแบบนูนต่ำในรูปทรงสามเหลี่ยม ประทับนั่งปางมารวิชัย ไม่มีอาสนะหรือฐานรองรับ ทรวดทรงองค์เอวอ่อนหวานละมุนละไมและงามสง่าในที

การแตกกรุของพระนางพญาก็คือเมื่อตอนปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก เพื่อทรงทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง และทรงได้เสด็จประพาสวัดนางพญาด้วย สันนิษฐานว่าทางวัดนางพญาก็คงพัฒนาปรับปรุงเคหสถานเพื่อเตรียมรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง และสร้างศาลาที่ประทับไว้ จึงได้พบกรุพระนางพญา และมีการคัดเลือกพระองค์ที่งดงามขึ้นทูลเกล้าถวาย และถวายราชวงศ์ใหญ่น้อย ตลอดจนแจกจ่ายข้าราชบริพารที่โดยเสด็จ จากการบันทึกคำบอกเล่าจากพระอาจารย์ขวัญ วัดระฆังฯ ว่าท่านได้รับคำบอกเล่าจากข้าราชการรุ่นเก่าผู้หนึ่ง ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง แต่ท่านจำชื่อไม่ได้แล้ว คุณหลวงผู้นั้นได้เล่าให้ท่านฟังว่า ได้พระนางพญามาจากพิษณุโลก 2-3 องค์ในคราวตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงในครั้งนั้นด้วย

พระนางพญา เป็นพระเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ ปรากฏแร่กรวดทรายผสมผสานคลุกเคล้า กดเป็นองค์พระแล้วเสร็จ จึงนำไปเผา พระส่วนใหญ่จะมีเนื้อผสมว่านน้อยหรืออาจจะไม่มี เนื้อพระจึงดูค่อนข้างหยาบ แกร่งและแข็งมาก ที่เป็นเนื้อละเอียดจะผสมว่านมาก ทำให้เนื้อพระหนึกนุ่มสวยงาม ก็มีแต่พบเห็นน้อย ผู้รู้ได้จำแนกพิมพ์ทรงดังนี้
พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก ได้ทั้งหมด 7 พิมพ์ คือ

1. พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง  ถือเป็นพิมพ์ใหญ่พิมพ์หนึ่ง

2. พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง  ถือเป็นพิมพ์ใหญ่ โดยเฉพาะพิมพ์เข่าตรง แยกออกเป็น 2 พิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์เข่าตรง “ธรรมดา” กับพิมพ์เข่าตรง “มือตกเข่า” แต่ทั้งสองพิมพ์ก็ถือว่าอยู่ในความนิยมเหมือนกันทั้งคู่

3. พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่  ถือเป็นพิมพ์ใหญ่

4. พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก  ถือเป็นพิมพ์เล็ก

5. พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ  ถือเป็นพิมพ์กลาง

6. พระนางพญา พิมพ์อกแฟบ หรือ พิมพ์เทวดา  ถือเป็นพิมพ์เล็ก

7. พระนางพญา พิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์เข่าบ่วง หรือ พิมพ์ใหญ่พิเศษ

พระนางพญา กรุวัดนางพญาทุกพิมพ์ เป็นพระนั่งปางมารวิชัย กรอบตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม มีด้วยกัน 3 พิมพ์หลัก ได้แก่

พิมพ์ใหญ่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 พิมพ์ย่อยคือ พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง และพิมพ์อกนูนใหญ่

พิมพ์กลาง ได้แก่ พิมพ์สังฆาฏิ

พิมพ์เล็ก แบ่งออกได้ 2 พิมพ์ย่อยคือ พิมพ์อกแฟบ (เทวดา) และ พิมพ์อกนูนเล็ก

ในด้านความนิยม พระนางพญา กรุวัดนางพญาพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะได้แก่ พิมพ์เข่าโค้ง ส่วนพิมพ์ที่นิยมรองลงมาคือ พิมพ์เข่าตรง

พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง มีขนาดใกล้เคียงกับพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง และมีพุทธลักษณะใกล้เคียงกันมาก จะมีข้อแตกต่างกันก็เพียง พระบาทและพระเพลาของพิมพ์เข่าตรง จะค่อนข้างตรงไม่เว้าโค้งลงด้านล่างแบบพิมพ์เข่าโค้ง

พุทธลักษณะโดยทั่วไปของพระนางพญา พิมพ์เข่าตรง มีดังนี้

พระเกศ เป็นแบบเกศปลี โคนใหญ่ ปลายเรียว กระจังหน้าจะยุบเล็กน้อย

พระพักตร์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูลบมุมทั้งสี่ด้าน พระส่วนใหญ่จะเรียบร้อยไม่มีหน้าไม่มีตา แต่เฉพาะพระที่ติดพิมพ์ชัดเจนจะปรากฏรายละเอียดของ พระเนตร พระนาสิกและพระโอษฐ์ ถึงจะเป็นตาตุ่ยๆ แต่จะโปนมากกว่า

พระนลาฏ หน้าผากจะบุบเล็กน้อย มองเห็นไรพระศกด้านบนเด่นชัด

ไรพระศก โดยมากจะสังเกตลีลาการทอดไรพระศกกับพระกรรณเป็นสำคัญ ส่วนมากไรพระศกจะเป็นเส้นเล็กมีความคมชัดมาก วาดตามกรอบพระพักตร์ลงมาจรดพระอังสะทั้ง 2 ด้าน

พระกรรณ เป็นเส้นสลวยสวยงามมาก ตอนกลางของพระกรรณทั้งสองจะมีลักษณะอ่อนน้อยๆ เข้าหาพระศอ พระกรรณซ้ายจะยาวจรดพระอังสะ และเชื่อมต่อกับเส้นสังฆาฏิ

พระอังสะ และ พระรากขวัญ จะต่อกันเป็นแนวย้อยแบบท้องกระทะ แสดงไหล่ที่ยกสูงทั้งสองด้าน ระหว่างแนวซอกช่อง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเสี้ยนเล็กๆ ขนานกันไป รอยดังกล่าวมักปรากฏตามซอกอื่นๆ อีกด้วย

พระอุระ นูนเด่นชัดมาก พระถันเป็นเต้านูนขึ้นมา โดยเฉพาะพระถันขวารับกับขอบจีวรซึ่งรัดจนเต้าพระถันนูนขึ้นมา ส่วนพระถันซ้ายมีเส้นสังฆาฏิห่มทับอยู่

พระอุทร นูนเด่นชัด ปรากฏพระนาภีเป็นรูเล็กเท่าปลายเข็มหมุด เหนือพระนาภีปรากฏกล้ามท้องเป็นลอนรวม 3 ลอน

พระพาหา แขนขวากางมากกว่าแขนซ้าย ปล่อยยาวลงมาจรดพระชงฆ์ พระพาหาซ้ายตรงรับกับส่วนองค์ และจะหักพระกัประแล้วทอดไปตามพระเพลา มีขนาดเล็กเรียวกว่าช่วงบน ทำการโค้งขึ้นงดงามมาก ปลายพระหัตถ์สุดที่บั้นพระองค์

พระเพลา เป็นเส้นตรงแบบสมาธิราบ โดยเฉพาะพระเพลาขวาเป็นเส้นตรงขนานกับรอยตัดกรอบด้านล่าง ทำให้เห็นว่าแข้งซ้อนห่างกันอย่างเด่นชัด

บรรดาพิมพ์ทรงของ พระนางพญา กรุวัดนางพญาทั้ง 7 พิมพ์ มีเพียง พิมพ์เข่าตรง เท่านั้น ที่ปรากฏว่ามีแม่พิมพ์อยู่ถึง 2 แบบ คือ พิมพ์เข่าตรง (ธรรมดา) และพิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) ซึ่งแม่พิมพ์ทั้ง 2 แบบนี้ มีเอกลักษณ์และรายละเอียดตำหนิของแม่พิมพ์แตกต่างกัน สามารถพิจารณาได้ดังนี้

ตำหนิของ พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง (ธรรมดา) ที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนดังนี้

พระเกศ คล้ายปลีกล้วย

พระนลาฏ ด้านซ้ายจะบุบมากกว่าด้านขวา และปรากฏกระจังหน้าชัดเจน

พระกรรณ ปลายหูซ้ายจะเชื่อมติดกับเส้นสังฆาฏิ ส่วนปลายหูขวาจะแตกเป็นหางแซงแซว

พระหัตถ์ ปลายพระหัตถ์ซ้ายจะแหลมและแตกเป็นหางแซงแซว ส่วนพระหัตถ์ขวาจะไม่ปรากฏนิ้วมือ

ตำหนิของ พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) ที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนดังนี้

พระเกศ คล้ายปลีกล้วย

พระนลาฏ ด้านซ้ายจะบุบมากกว่าด้านขวา และปรากฏเส้นกระจังหน้าติดกับพระเกศ ระหว่างเส้นกระจังหน้ากับหน้าผาก มีลายเส้นวิ่งขวางหน้าผาก 6 เส้น

พระกรรณ ปลายหูซ้ายจะเชื่อมติดเป็นเส้นเดียวกับเส้นสังฆาฏิ ส่วนปลายหูขวาจะแตกเป็นหางแซงแซว

เส้นอังสะ วิ่งเป็นเส้นตรงผิดกับพิมพ์เข่าตรง (ธรรมดา) และจะวิ่งชอนเข้าไปใต้รักแร้

พระอุระ มีกล้ามเนื้อนูน สีข้างดูคล่้ายมีเนื้อมาพอกไว้

พระหัตถ์ ปลายพระหัตถ์ขวาวางอยู่บนหัวเข่าขวาปรากฏนิ้วมือยื่นลงไปด้านล่างใต่้เข่า เป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์

พระบาท บริเวณปลายพระบาทซ้ายปรากฏเส้นแตกของแม่พิมพ์เห็นได้ชัด

ในอดีตมีผู้ท้วงติงและสงสัยกันว่า พระนางพญา พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า น่าจะเป็นพระวัดโพธิญาณ หรือพระกรุโรงทอมากกว่าของวัดนางพญา เพราะมีส่วนคล้ายคลึงกับ พระนางพญากรุโรงทอ

แต่ปัจจุบันนี้ปัญหาดังกล่าวตก ไป และมีการคลี่คลายปัญหาด้านพุทธศิลป์และพิมพ์ทรง ยอมรับเป็นสากลแล้วว่า พระนางพญา พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า เป็นพระของ กรุวัดนางพญาอย่างแน่นอน

พระนางพญาไม่ว่าพิมพ์ไหน ลักษณะของเนื้อจะเหมือนกันหมด ผิดกันแต่พิมพ์ทรงเท่านั้น ส่วนทางด้านพุทธคุณนั้นยอดเยี่ยมทางด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเป็นเลิศ สมกับเป็นหนึ่งใน 5 ของชุดเบญจภาคีนั้นเอง

ต่อมาได้มีการขุดพบพระนางพญาอีกหลายครั้ง และอีกหลายกรุ เช่นในปี พ.ศ. 2487 ก็มีการขุดพบพระนางพญาอีกที่วัดนางพญา และยังพบพระนางพญาที่วัดราชบูรณะอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบที่วัดอินทราราม กทม. วัดเลียบ(ราชบูรณะ) กทม. วังหน้าพบที่พระราชวังบวรมงคล ที่วัดสังกัจจายน์ ฝั่งธนฯ และในปี พ.ศ. 2532 ยังพบอีกครั้งที่วัดราชบูรณะ พิษณุโลกอีกด้วย

พระนางพญาพิษณุโลกมีด้วยกันหลายพิมพ์ ดังที่กล่าวมาเช่น พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดาหรือที่โบราณเรียกว่าพิมพ์อกแฟบ และพิมพ์อกนูนเล็ก

ที่มา...
ข่าวสด

Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...