ศรัทธาและเงินตราในโลกธุรกิจพระเครื่อง

 อ้างอิง

เรื่อง : เกษร สิทธิหนิ้ว
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ 

 


      ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา “ธุรกิจพระเครื่อง” เติบโต และขยายตัวอย่างรวดเร็ว จริงหรือไม่ว่า ขณะที่โลกมีความเจริญทางวัตถุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ “ข้างใน” ของคนกลับอ่อนแอลง ? ความอ่อนแอนำมาสู่การแสวงหาที่พึ่งทางใจ จนทำให้ใครหลายคนยอมทุ่มเทเงินเป็นแสนเป็นล้านเพื่อแลกกับ “พลานุภาพ” ที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในองค์พระเครื่อง และถึงวันนี้ “ความเชื่อ และศรัทธา” ก็เป็นอีกสิ่งที่ได้กลายเป็น “สินค้า” ไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ ?
      เข็มนาฬิกาบนหน้าปัดบอกเวลาเก้าโมงเช้า นี่ไม่ใช่เวลาที่ห้างสรรพสินค้าทั่วไปจะเปิดทำการ แต่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า งามวงศ์วาน ยามนี้มีผู้คนมายืนออกันเนืองแน่น พวกเขาไม่ใช่นักชอป ไม่ใช่พนักงานห้าง แต่มาด้วยจุดมุ่งหมายอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับวัตถุเล็กๆ ที่พวกเขา “พก” มาด้วย

      หลายคนเริ่มทยอยเดินไปตามทางพิเศษ ที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม ลิฟต์ขนของตัวเก่าเคลื่อนตัวอย่างอืดอาดไปจนถึงชั้น ๘ เมื่อประตูเปิดออก ภาพผู้คนนับพันที่เดินขวักไขว่อยู่เต็มลานกว้างบนชั้น ๘ ก็ปรากฏให้เห็น พระเครื่องหลากหลายชนิดวางเรียงรายปะปนกับเครื่องรางของขลังอย่าง ตะกรุด เบี้ยแก้ (หอยเบี้ยซึ่งภายในบรรจุปรอท) เขี้ยวเสือ ปลัดขิก ฯลฯ ดูละลานตา ๙๕ เปอร์เซ็นต์ของคนที่มางานนี้เป็นผู้ชาย ส่วนใหญ่อยู่ในอาการคล้ายกันคือ ถ้าไม่แนบดวงตากับแว่นขยายอันเล็ก เพ่งดูวัตถุขนาดเล็กในมืออย่างจดจ่อ ก็เดินโฉบไปมาตามแผงพระที่ตั้งติดกันเป็นพรืดเต็มลาน

      เกือบทุกสัปดาห์จะมีการจัดงานประกวดพระเครื่องตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ครั้งนี้เป็นงานใหญ่ระดับช้างที่คนในวงการพระเครื่องต่างให้ความสนใจมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง นี่อาจเป็นงานรวมเซียนพระ คนเล่นพระ คนขายพระ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกงานหนึ่ง รายการประกวดวันนี้มีมากถึง ๑,๒๐๐ รายการ และคาดกันว่าจะมีพระใหม่ๆ มาลงสนามให้เซียนพระ “จับ” อย่างแน่นอน

      นี่ไม่ใช่งานแรกที่แสวงนำพระเครื่องในคอลเล็กชันส่วนตัวเข้าประกวด ขาประจำงานประกวดพระคุ้นหน้าคุ้นตาชายผิวคล้ำร่างเล็กผู้นี้เป็นอย่างดี กระเป๋าใส่เอกสารสีดำที่เขาหอบหิ้วมาด้วยใบนั้นมักจะมี “ทีเด็ด” ให้นักเลงพระต้องจับตาดูเสมอ แสวงจ่ายเงิน ๒,๖๐๐ บาทซื้อ “บัตรส่งพระ” จากเจ้าหน้าที่ด้านหน้า เป็นบัตรราคา ๓๐๐ บาท ๔ ใบสำหรับพระชุดเบญจภาคี และพระยอดนิยม กับบัตรราคา ๒๐๐ บาทอีก ๗ ใบสำหรับพระทั่วไป ก่อนจะปลีกตัวออกมานั่งโต๊ะที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ หยิบพระเครื่องจากกระเป๋ามาใส่ในตลับใส่พระที่ได้มาพร้อมบัตรอย่างบรรจง แล้วกรอกรายละเอียดของพระเครื่องตามรายการ รวมทั้งตำหนิต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือชื่อเจ้าของพระ

      แสวงยื่นพระสมเด็จวัดเกศไชยโยให้กรรมการ ๒-๓ คนที่นั่งอยู่ตรงโต๊ะหมายเลข ๑ ดู กรรมการคนแรกรับพระจากแสวงอย่างระมัดระวัง มองแค่แวบเดียวว่าเข้าเค้า ก็หยิบกล้องส่องพระออกมาตรวจสอบให้แน่ใจ

      “ได้มาจากไหนล่ะ” กรรมการร่างท้วมเงยหน้าขึ้นถาม

      “ของเก่าตกทอดมา สวยกริบเลย” แสวงบอก กรรมการร่างท้วมยื่นพระสมเด็จให้กรรมการอีก ๒ คนในโต๊ะ ระหว่างนั้นโต๊ะข้างๆ เริ่มมีเสียงโวยวาย

      “องค์นี้ติดรางวัลมาหลายงานแล้ว กรรมการแม่งดูพระเป็นหรือเปล่าวะ” ชายร่างใหญ่หนวดเฟิ้มโวยวายอยู่ท่ามกลางผู้คน หลังยื่นพระเนื้อผงยอดนิยมให้กรรมการ แต่กรรมการดูแล้วส่ายหน้าก่อนส่งพระคืนให้--เท่านี้ก็เป็นอันรู้กันว่าพระองค์นี้ “มีปัญหา”

      นี่คือ “ด่านแรก” ของการประกวดพระเครื่อง โต๊ะรับพระซึ่งส่วนใหญ่จะจัดให้โต๊ะที่ ๑ เป็นโต๊ะพระชุดเบญจภาคี โต๊ะที่ ๒ เป็นโต๊ะพระเนื้อผงยอดนิยม โต๊ะที่ ๓ เป็นโต๊ะพระเนื้อผงทั่วไป ตามด้วยโต๊ะพระเนื้อดินยอดนิยม พระเนื้อชินยอดนิยม พระเนื้อชินทั่วไป เหรียญพระพุทธ-คณาจารย์ยอดนิยม พระกริ่ง-รูปหล่อยอดนิยม พระกริ่ง-รูปหล่อทั่วไป พระปิดตายอดนิยม พระมหาอุดยอดนิยม เครื่องรางยอดนิยม พระหลวงพ่อทวดยอดนิยม พระกรุยอดนิยมจังหวัดสุพรรณบุรี พระคณาจารย์ยอดนิยมจังหวัดสุพรรณบุรี พระคณาจารย์ยอดนิยมภาคอีสาน พระยอดนิยมจังหวัดนครปฐม ฯลฯ จะมีกรรมการรับพระซึ่งเป็นเซียนพระชนิดนั้นๆ มานั่งประจำอยู่ นับได้ร่วม ๔๐ โต๊ะ

      มีแต่ “พระแท้” ที่ผ่านการพิจารณาจากกรรมการชุดนี้เท่านั้นที่จะสามารถผ่านเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศ

      กรรมการฉีกหางบัตรให้แสวง ส่วนพระสมเด็จองค์นั้นถูกส่งเข้าไปด้านในซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการคุ้มกันเป็นพิเศษ หากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ (ซึ่งครั้งนี้เป็นทีมงาน “มรดกพระเครื่อง”) คณะกรรมการ และผู้ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งทั้งหมดต้องแขวนป้ายสตาฟฟ์เป็นสัญลักษณ์ จะไม่มีโอกาสเฉียดเข้าไปใกล้อย่างเด็ดขาด

      ด้านในพื้นที่พิเศษ กล้องถ่ายรูปพร้อมไฟเกือบ ๒๐ ชุดตั้งอยู่ตรงกลาง ทีมงานก้มหน้าก้มตาถ่ายภาพกันอย่างขะมักเขม้น พระเครื่องที่ผ่านด่านแรกเข้ามาแล้วจะถูกนำมาเก็บไว้ในตู้เพื่อรอถ่ายรูป ที่ผ่านมา ในงานประกวดพระมักจะมีกรณีพระหาย หรือมีการร้องเรียนว่าพระที่ส่งเข้ามาถูกสลับสับเปลี่ยน ฯลฯ ในช่วงหลังการจัดงานจึงต้องทำอย่างรัดกุม ยิ่งทีมงานเป็นมืออาชีพมากเท่าไร ระบบป้องกัน “ความมั่ว” ทุกประเภทก็ยิ่งรัดกุมแน่นหนา นอกจากการป้องกันคนนอกไม่ให้เข้าไปเพ่นพ่านในพื้นที่พิเศษแล้ว ยังต้องมีระบบการลงทะเบียนรับพระ-ส่งพระ เซ็นรับพระก่อนเอาออกจากตู้มาถ่ายรูป ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการจัดตำรวจหลายนายมาดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานด้วย

      ที่ด้านนอกผู้คนยังแห่กันมาล้นหลาม คนขายบัตรส่งพระหน้างานทำงานมือเป็นระวิง เจ้าของพระเครื่องที่จะส่งประกวดนั่งอยู่ที่โต๊ะด้านนอก ก้มหน้าก้มตากรอกรายละเอียดต่างๆ ลงในบัตรส่งพระ แล้วทยอยเอามาส่ง พิธีกรของงานพูดชักชวนคนที่มางานให้รีบส่งพระ สลับกับบอกกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่าเป็นงานการกุศล หารายได้จัดสร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร รวมทั้งกล่าวทักทายเซียนพระจากทั่วสารทิศที่ทยอยเข้างานไม่ขาดสาย

      บ่ายสองโมงตรง พิธีกรประกาศปิดรับพระ เครื่องเสียงทุกชนิดถูกปิดเพื่อให้กรรมการมีสมาธิในการพิจารณาว่าพระองค์ไหนจะขึ้นชั้นเป็น “องค์แชมป์” หรือ “พระติดรางวัล” เซียนเล็กเซียนใหญ่ของวงการที่ได้รับเชิญมาเป็นกรรมการตัดสินพระแยกย้ายไปประจำตามโต๊ะพระเครื่องชนิดต่างๆ เพื่อร่วมกันตัดสิน บางโต๊ะอาจจะมีกรรมการร่วมกันตัดสินแค่ ๒-๓ คน แต่สำหรับโต๊ะพระชุดเบญจภาคี และพระยอดนิยมดังๆ จะมีกรรมการหลายคน ทั้งยังต้องเป็นเซียนใหญ่ที่ได้รับการยอมรับในวงการเท่านั้น โต๊ะพระชุดเบญจภาคีวันนี้มีกรรมการร่วมกันตัดสินเกือบ ๑๐ คน

      บ่ายสองกว่า พระเครื่องรายการทั่วไปที่กรรมการตัดสินเสร็จถูกทยอยนำออกมาคืนเจ้าของที่กำลังลุ้นอยู่ว่าพระของตนจะ “ติด” รางวัลหรือไม่ ของโต๊ะไหนที่ตัดสินแล้ว และเจ้าหน้าที่นำออกมา บรรดาเจ้าของก็จะกรูกันเข้าไปรุมดู โดยทั่วไปแต่ละโต๊ะจะมีพระที่ติดรางวัลที่ ๑ รางวัลที่ ๒ รางวัลที่ ๓ และรางวัลชมเชย ส่วนองค์ที่เหลือก็จะได้การรับประกันว่าเป็นพระแท้ที่ผ่านงานประกวดแล้ว แต่ในบางกรณี บางโต๊ะหรือบางรายการอาจไม่มีใครส่งเข้าประกวดเลย หรือมีผู้ส่งเข้าประกวดแต่ไม่มีพระเครื่ององค์ใดติดรางวัล


      ขณะที่กรรมการโต๊ะอื่นๆ ทยอยส่งผลการตัดสิน ที่โต๊ะพระชุดเบญจภาคี กรรมการยังคงนั่งนิ่ง แต่ละคนหยิบพระขึ้นมาเพ่งคราวละนานๆ สลับกับการเงยหน้าขึ้นมาหารือกันเบาๆ

      นาทีนี้แสวงเบียดฝูงชนไปอยู่หน้าสุด ลุ้นระทึก

      ในที่สุดเมื่อผลการตัดสินออกมา พระสมเด็จของแสวงก็ติดรางวัลที่ ๑ สมใจ

      “ติดรางวัลอย่างนี้ราคาเป็นล้าน” แสวงยิ้มหน้าบาน รับพระคืนมาแล้วก็ชื่นชมพระของตัวว่า “สวยบาด” ไม่ขาดปาก ก่อนจะควักธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ และ ๕๐๐ ขึ้นมาห่อพระเครื่ององค์เล็กอย่างทะนุถนอม หลายคนชำเลืองมองตาม แต่ไม่มีใครกล้ามาขอชื่นชมด้วย ในเวลาเดียวกันนั้น ใครบางคนที่ผิดหวังเริ่มโวยวาย

      “โอเคว่าตอนรับพระเข้ามาก็ต้องเป็นคนที่ดูออกว่าแท้หรือเก๊ แต่ไอ้ตอนจะตัดสินว่าองค์ไหนสวยไม่สวย แน่จริงให้คนที่ไม่รู้ว่าพระองค์ไหนเป็นของใครตัดสินสิ เอาผู้หญิงก็ได้ ให้เขาดูแค่ว่าสวยหรือไม่สวยอย่างเดียว” หลังจากผลการตัดสินออกมาแล้ว การไม่พอใจ และไม่ยอมรับผลการตัดสินของคณะกรรมการเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ

      ไม่มีรางวัลสำหรับเจ้าของพระที่ชนะการประกวด นอกจากหนังสือที่ระลึก และใบประกาศ (ที่ระบุว่าเป็นพระที่ติดรางวัลใด) ซึ่งออกให้โดยสมาคมผู้นิยมพระเครื่อง พระบูชาไทย และจัดส่งให้ทางไปรษณีย์หลังจากงานประกวดผ่านไปราว ๑๐ วัน แต่ถึงกระนั้น การที่พระเครื่องในความครอบครองของตนได้รับการการันตีว่าเป็นพระติดรางวัล ไม่ว่าจะเป็นรางวัลที่ ๑, ๒, ๓ หรือแค่ชมเชย ก็เป็นเสมือนใบรับรองชั้นดีที่จะอยู่คู่กับพระเครื่ององค์นั้นตลอดไป

      เช่นกัน งานนี้ไม่มีค่าตอบแทนสำหรับกรรมการ แถมยังต้องควักเนื้อ (ก็ตอนที่โฆษกของงานประกาศว่า “ตอนนี้คุณป๋อง สุพรรณ กำลังเดินเข้างานมาแล้วนะครับ วันนี้จะบริจาคเท่าไรดีครับ”--นั่นแหละ) แต่ถึงอย่างนั้นทุกคนก็สมัครใจจะมางานนี้ เพราะอะไร ?--นั่นเป็นเรื่องที่เราจะคุยกันทีหลัง


      “คุณไม่รู้หรอกว่าข้างในเขา ‘ขอ’ กันขนาดไหน เขาล็อบบี เขาฟาดฟันกันขนาดไหน” เซียนพระรายหนึ่งซึ่งมีศูนย์พระเครื่องโอ่อ่าอยู่ในย่านธุรกิจชื่อดังกลางกรุงกล่าว เมื่อเราตามไปคุยกับเขาหลังวันงานประกวด เขาพูดถึงเรื่องใน “วงการ” อีกหลายอย่าง ทั้งด้านมืด และด้านสว่างของแวดวงธุรกิจพระเครื่อง--ธุรกิจที่เติบโต และขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาโดยมี “สินค้า” เป็นของซึ่งผูกโยงกับความเชื่อ และศรัทธาอย่างแยกไม่ออก

      ทุกวันนี้ในห้างสรรพสินค้าเกือบทุกแห่งมีศูนย์พระเครื่องยึดครองพื้นที่อยู่ทั้งนั้น (จะมากหรือน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) หากใครเคยผ่านไปแถวท่าพระจันทร์ คงจะได้เห็นแผงพระเครื่องวางขายอยู่ริมทางเท้าปะปนกับสินค้าชนิดอื่นๆ เรื่อยไปจนถึงในตรอกซอกซอยบริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งหากเดินลึกเข้าไปสักหน่อย ก็จะพบกับตลาดพระเครื่องอีกแห่งหนึ่งที่ใหญ่ และเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย

      หากถือตามที่กล่าวกันมาว่า พระพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ให้คนได้ระลึกถึงพระธรรมคำสอน รวมถึงเป็นการสืบทอดพระศาสนา ก็อาจต้องนับว่าในวันนี้คุณค่า และความหมายของพระเครื่องมาไกลจากจุดเริ่มต้นสุดกู่ทีเดียว

      “ผมไม่อยากให้คุณนำเสนอเรื่องพวกนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ในแวดวงธุรกิจการค้าพระเครื่องเวลานี้มันเป็นเรื่องโสมมที่สุด เน่าที่สุดในวงการ และมันจะเปิดโอกาสให้ศาสนาอื่นที่ไม่เข้าใจโจมตีศาสนาพุทธได้”

      ใครบางคนในวงการพระเครื่องบอกฉันในวันแรกๆ ที่เริ่มต้นจับงานชิ้นนี้

      ฉันไม่ได้รับปาก เพราะรู้ว่าไม่อาจทำตามที่เขาร้องขอได้

(พระพิมพ์ + เครื่องรางของขลัง) = พระเครื่อง
      “พระพิมพ์เป็นของเก่าที่ได้มีผู้ทำขึ้น ตั้งแต่ตอนต้นพระพุทธศาสนา (คือภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไม่นานนัก) ข้าพเจ้าถือว่าเป็นของที่ควรเคารพนับถือ และเป็นประโยชน์ในการสอบสวน พงศาวดารมาก

      “...บุคคลผู้ใดทำรูปพระพิมพ์แล้วบรรจุไว้ในถ้ำ และพระสถูปต่างๆ เป็นจำนวนตั้งหลายพันองค์นั้น จะต้องคิดถึงการประกาศศาสนา ในอนาคตอันไกลเป็นแท้ และหวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยประกาศศาสนา ให้แพร่หลายไปได้อีกหลายพันปี ดูเหมือนว่าพวกพุทธมามก บุคคลจะได้มีความรู้สึกว่า เมื่อครบอายุพระพุทธศาสนาๆ จะเสื่อมลง การพบเห็นรูปพระศาสดาจารย์เจ้า และคาถาย่ออันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ อาจเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พบกลับเกิดความเลื่อมใส และเชื่อถือขึ้นอีก”

      (ยอร์ช เซเดส์, ตำนานพระพิมพ์, ๒๔๖๙)

      หากความพยายามของคนโบราณในการทำพระพิมพ์เป็นดังที่ ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานจริง ก็คงต้องนับว่าความพยายามของคนสมัยก่อน “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง เพราะพระพิมพ์ที่เพียรสร้างกันไว้มากมาย (ไม่ว่าจะสร้างตามจำนวนปีเกิดหรือเท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) แล้วนำไปฝังไว้ใต้กรุเจดีย์นั้น น่าจะถูกขุดคุ้ยขึ้นมาจนหมดสิ้นแล้ว

      ว่าแต่ว่า “พระพิมพ์” ซึ่ง “หวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยประกาศศาสนาให้แพร่หลายไปได้อีกหลายพันปี” เหล่านี้ ได้กลายสถานะมาเป็น “พระเครื่อง” เช่นที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่เมื่อไร ?

      จากหลักฐานบรรดามีเท่าที่นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีสืบค้นได้ในปัจจุบัน พอจะสรุปไปในทางเดียวกันได้ว่า “พระเครื่อง” ซึ่งเป็นคำที่ย่อมาจากคำ “พระเครื่องราง” อันหมายถึงพระองค์เล็กๆ สำหรับนำติดตัวไปบูชานั้น ไม่ได้เป็นของที่มีอยู่ในสังคมไทยมาแต่เดิม หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่เกินร้อยปีมานี้เอง

      อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโส ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ใน พระเครื่องในเมืองสยาม ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ว่า “ความเชื่อเรื่องพระเครื่องเป็นสิ่งไม่พบเห็นในสังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และก็ไม่น่าจะมีในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นๆ ด้วย ถ้าจะให้เดากันตามความรู้ความเข้าใจของข้าพเจ้าในขณะนี้ ก็เชื่อว่าคงเกิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ ๔ ลงมา เพราะสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นมีกันแล้ว”

      จากหลักฐานต่างๆ ที่มีการสืบค้นมา คนไทยสมัยก่อนไม่มีใครนำพระพิมพ์มาห้อยคอหรือเก็บรักษาไว้ในบ้าน ด้วยถือว่าพระพุทธรูปต่างๆ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่บริสุทธิ์ จึงควรอยู่ที่วัด การนำพระพุทธรูปเข้าบ้านถือเป็นเรื่องไม่สมควร

      ขุนช้าง ขุนแผน พลายชุมพล และตัวละครทุกตัวในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ซึ่งมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์ ก็ไม่มีใครนำพระมาห้อยคอ จะมีก็แต่เครื่องรางจำพวกตะกรุด ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด ลูกอม เท่านั้น ที่พกติดตัวไปไหนมาไหนยามที่ต้องการความมั่นใจ ปลอดภัย

      ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่างๆ นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงมาก็ไม่ปรากฏรูปทหารที่เอาพระมาห้อยคอ มีแต่ที่ใส่เสื้อลงยันต์เท่านั้น ใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ช่วงที่กล่าวถึงครั้งโกษาปานไปฝรั่งเศส และได้แสดงการอยู่ยงคงกระพันโดยให้ทหารไทยยืนแอ่นอกให้ทหารฝรั่งเศสยิง ก็ไม่มีการกล่าวถึงพระพิมพ์ และพระเครื่องแต่อย่างใด


      ตามความเห็นของอาจารย์ศรีศักร พระพิมพ์ได้เริ่มกลายสถานะมาเป็นพระเครื่องก็ในราวสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดความนิยมใน “พระกริ่ง” ซึ่งนับเป็น “พระเครื่องรางของขลัง” ขนานแท้

      “พระกริ่งเป็นผลผลิตของระบบความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับลัทธิตันตริกในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ลักษณะโดดเด่นของลัทธินี้ก็คือเรื่องการเกี่ยวข้องกับโลกียสุข การมีพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ที่เป็นคาถาอาคมต่างๆ ซึ่งโดยย่อก็คือยังให้ความสำคัญแก่ความต้องการต่างๆ ในเรื่องของโลกนี้อยู่ ..ด้วยเหตุนี้ พระกริ่งจึงเป็นเรื่องของพระพุทธรูปหรือรูปเคารพในทางพุทธศาสนาที่คนนำเข้าบ้านได้ หรือนำติดตัวไปไหนมาไหนได้เช่นเดียวกันกับเครื่องรางของขลัง”

      ที่สำคัญ พระกริ่ง (รวมไปถึงพระพิมพ์ที่ถูกนำมาเป็นพระเครื่องในชั้นหลัง) ยังมีภาษีดีกว่าเครื่องรางของขลังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้ายันต์ ผ้าประเจียด แหวนลงอาคม ตะกรุด ฯลฯ ตรงที่ผู้ใช้ไม่ต้องเรียนรู้คาถาอาคมใด ไม่ต้องถือศีลเคร่งครัดระมัดระวังเหมือนการถือครองเครื่องรางชนิดอื่น เพียงกราบไหว้บูชาหรือสวดอ้อนวอนขอความคุ้มครองก็เพียงพอ จึงเหมาะสำหรับคนทั่วไปที่จะนำติดตัวไปในที่ต่างๆ

      ความนิยมนับถือในพระกริ่งซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อในเรื่องการไม่นำพระพุทธรูปเข้าบ้าน การนำพระมาไว้กับตัว ประกอบกับความนิยมในการเล่นของเก่าที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตกในช่วงเวลานั้น ทำให้มีการขุดกรุหาสมบัติเก่าตามวัดร้าง และโบราณสถานต่างๆ กันอย่างแพร่หลาย และจากที่เป็นการขุดเพื่อหาสมบัติ แก้วแหวนเงินทอง พระพุทธรูป โดยมีพระพิมพ์ซึ่งพบรวมอยู่ในกรุเป็นผลพลอยได้ มาในช่วงหลังเมื่อสมบัติต่างๆ ทยอยหมดไป พระพิมพ์ที่เปลี่ยนฐานะมาเป็นพระเครื่องจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่บรรดานักขุดกรุแสวงหา

      ต่อมา จากการนำพระพิมพ์ที่เป็นของโบราณซึ่งขุดได้จากกรุวัดตามเมืองต่างๆ มาเป็นเครื่องรางของขลัง ก็ได้ขยายมาสู่การสร้างพระพิมพ์รุ่นใหม่ๆ โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ที่สร้างพระพร้อมกับลงคาถาอาคมหรือยันต์ไว้แจกบรรดาสานุศิษย์ พระเครื่องรางหรือพระเครื่องที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เหล่านี้จึงมักจะมีการลงอักขระเลขยันต์ไว้ด้านหลัง ซึ่งไม่เคยมีปรากฏในพระพิมพ์รุ่นก่อนๆ

      หลายสิบปีที่ผ่านมา พระเครื่อง (ราง) ได้ค่อยๆ เข้ามาแทนที่เครื่องรางของขลัง รวมทั้งวัตถุทางไสยศาสตร์อื่นๆ ที่เคยมีมาแต่เดิมทีละน้อยๆ ก่อนจะกลายเป็น “สุดยอดเครื่องรางของขลัง” ที่มาแรงแซงหน้าเหล่าเครื่องรางไปอย่างไม่เห็นฝุ่นในช่วง ๒๐-๓๐ ปีให้หลัง

      มาถึงวันนี้-วันที่แผงขายพระมีให้เห็นในทุกย่านร้านตลาด ศูนย์พระเครื่องกระจายตัวอยู่ตามห้างสรรพสินค้าตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงห้างขนาดใหญ่หรูหรากลางกรุง เราคงพูดได้เต็มปากว่า “พระเครื่อง” ไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นเครื่องระลึกถึงองค์พระศาสดา เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันภัย ฯลฯ อีกต่อไป

      หากแต่เป็น “สินค้า” ในตลาดที่มีวงเงินหมุนเวียนมหาศาลเกินกว่าที่ใครจะคาดถึง

ผงดินแพงที่สุดในโลก
      “ผมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้พระองค์นี้มา จะว่าเ-ี้ยก็เ-ี้ย”

      ชายวัยกลางคนซึ่งนั่งอยู่ในร้านโอ่อ่า ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ กลางใจเมืองกล่าว ที่นี่เป็นศูนย์พระเครื่องที่ค่อนข้างหรูหรา เขาเล่าให้ฉันฟังว่าเขาทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้สิ่งนี้มา ใช้ทุกวิธีสารพัด ทั้งลูกล่อ ลูกชน ส่งนกต่อไปเจรจา ใช้ทั้งอำนาจ บารมี รวมถึงเวลาอีกร่วม ๒ ปีกว่าจะได้มา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ยอมบอกว่า “ของ” ที่ว่านั้นคืออะไร

      “อย่ารู้เลย... ในชีวิตคนเราจะมีคนคนหนึ่งที่เราขัดเขาไม่ได้ ถ้าไม่อยากสูญเสียของรักของหวงไป ก็อย่าให้ใครดู ถ้ามีคนดู หรือรู้ว่าเรามีแล้วเขาต้องการ เขาก็ต้องหาวิธีแย่งชิงมาจากคุณให้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้สิ่งนั้นอยู่กับคุณนานๆ ก็อย่าให้ใครดู”

      ปัจจุบัน แม้พระเครื่องจะมีมากมายนับพันๆ ชนิด มีทั้งพระกรุ พระหล่อ พระเหรียญ ฯลฯ แต่ไม่มีพระใดจะดัง และเป็นที่ต้องการมากไปกว่า “พระสมเด็จ” ซึ่งในวงการถือว่าเป็นจักรพรรดิของพระเครื่อง สุดยอดปรารถนาของนักเลงพระมาตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงเดี๋ยวนี้ การได้ครอบครองพระสมเด็จ โดยเฉพาะพระสมเด็จวัดระฆัง อาจนับเป็นจุดสูงสุดของเซียนพระส่วนใหญ่ รวมไปถึงบรรดาเศรษฐีที่ต้องการเสาะหาพระสมเด็จมาไว้กับตัวเพื่อเสริมบารมี

      แต่การจะได้ครอบครองพระสมเด็จองค์แท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีเงินหลายสิบล้านก็ใช่ว่าจะสามารถเป็นเจ้าของได้ เท่าที่รู้กันในวงการ พระสมเด็จองค์แท้ที่สวย และสมบูรณ์ไร้ตำหนินั้นมีอยู่เพียงไม่กี่องค์ (ซึ่งมักจะได้รับการตั้งชื่อเรียกกันในวงการตามชื่อเจ้าของเดิม เช่น “องค์ครูเอื้อ” ซึ่งเคยเป็นของครูเอื้อ สุนทรสนาน แม้จะเปลี่ยนมือไปแล้ว เซียนพระก็ยังเรียกขานกันว่า “องค์ครูเอื้อ” เพื่อให้เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงพระสมเด็จองค์ใด) ยิ่งองค์สวยๆ ระดับแชมป์ เช่น องค์ลุงพุฒ องค์ขุนศรี องค์เล่าปี่ องค์กวนอู องค์บุญส่ง องค์เจ๊แจ๊ว องค์เจ๊องุ่น องค์เสี่ยดม ฯลฯ ซื้อขายกันไม่ต่ำกว่าองค์ละ ๑๕ ล้านบาททั้งสิ้น โดยเฉพาะ “องค์มนตรี” ซึ่งนายมนตรี พงษ์พานิช นักการเมืองชื่อดังในอดีตเคยครอบครองนั้น ราคาเช่าอยู่ที่เกือบ ๕๐ ล้านบาท

      ที่ผ่านมา การประมูลพระสมเด็จแต่ละครั้งมักสร้างความฮือฮาได้เสมอ ต้นเดือนธันวาคม ปี ๒๕๔๗ ในงานประมูลพระเครื่อง และผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังในเมืองไทย ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องนิทรรศการชั้น ๔ เดอะสีลมแกลเลอเรีย ย่านสีลม ไฮไลต์ของการประมูลอยู่ที่พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ที่เรียกกันว่า “องค์เสี่ยหน่ำ” (ตามชื่อเจ้าของเดิม คือ นายก๊อนหน่ำ แซ่ใช้) ซึ่งเปิดราคาประมูลไว้ที่ ๑๘ ล้านบาท

      โจ้ อิศวเรศ เจ้าของเว็บไซต์ www.amuletcenter.com ให้ข้อมูลไว้ว่า ทันทีที่มีข่าวการประมูลปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ เรื่องนี้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการพระเครื่องทันที เนื่องจากพระสมเด็จ “องค์เสี่ยหน่ำ” นี้จัดเป็นพระสมเด็จที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง ทั้งยังเคยอยู่ในความครอบครองของบุคคลชั้นนำในสังคมหลายท่าน ก่อนจะมาปรากฏโฉมในงานประมูลคราวนี้

      โดยทั่วไป พระเครื่องชั้นดีที่มีมูลค่าสูงทั้งหลายมักไม่มีชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองปรากฏชัดเจนให้เป็นที่รับรู้กัน เป็นแต่เล่าลือคาดเดากันเท่านั้นว่าองค์นั้นองค์นี้น่าจะอยู่ในมือใคร ในการประมูลครั้งนี้ก็เช่นกัน ชื่อของผู้ที่ได้ครอบครองพระสมเด็จ “องค์เสี่ยหน่ำ” ยังคงเป็นปริศนา มีเพียงข่าวว่า ผู้เข้าร่วมประมูลหมายเลข ๐๐๗ เป็นผู้ชนะการประมูลไปด้วยจำนวนเงินสูงถึง ๒๔ ล้านบาท

      ตามประวัติ “พระสมเด็จวัดระฆัง” หรือที่มักเรียกกันว่า “พระสมเด็จ” นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นผู้สร้างขึ้นในราวปี ๒๔๐๙ หลังจากที่ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ และได้สร้างเรื่อยมาจนถึงปี ๒๔๑๕ เพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมทั้งหลาย ครั้นหมดก็สร้างใหม่ กล่าวกันว่าพระสมเด็จที่ท่านสร้างขึ้นนั้นได้รับการปลุกเสกด้วยคาถาชินบัญชรที่ท่านได้มาจากเมืองกำแพงเพชร


แม้คนในวงการธุรกิจพรเครื่อง "ตลาดบน" จะมองว่า
การที่ "ตลาดล่าง" นำพระเครื่องซึ่งถือว่าเป็นรูปเคารพ
ทางศาสนา และเป็นที่ศรัทธาของคนทั่วไป มาวางขาย
แบกะดิน ทำให้ภาพพจน์ของวงการพระเครื่องมัวหมอง
แต่ภาพเช่นนี้ก็เป็นภาพที่เห็นกันอยู่ทั่วไป นับตั้งแต่ยุค
แรกๆ ของวงการค้าพระเครื่อง มาจนปัจจุบันนี้

      หากนับจากครั้งแรกที่มีการสร้าง เราจะพบว่าความนิยมในพระสมเด็จเพิ่งปรากฏชัดในอีกหลายสิบปีต่อมา นั่นคือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยก่อนหน้านั้นมีพระเครื่องที่ได้รับความนิยมในหมู่คนเล่นพระอยู่บ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระที่มีชื่อเสียงทางด้าน “คงกระพันชาตรี” แต่เมื่อ “ตรียัมปวาย” เจ้าของผลงานชุด “ไตรภาค” ในชื่อ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง ซึ่งมีอิทธิพลไม่น้อยต่อวงการพระเครื่องไทย ได้จัดให้พระสมเด็จวัดระฆังเป็น “จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง” ความนิยมในพระสมเด็จก็ทะยานสู่แถวหน้าของพระเครื่องเมืองไทย

      และก็เป็น “ตรียัมปวาย” นี้เองที่ได้จัดทำทำเนียบชุดพระเครื่อง “เบญจภาคี” ขึ้นในปี ๒๔๙๕ โดยเมื่อแรกเริ่มยังคงเป็นเพียง “ไตรภาค” คือมีเพียง ๓ องค์เท่านั้น อันประกอบด้วย “พระสมเด็จวัดระฆัง” เป็นองค์ประธาน ซ้าย-ขวาเป็น “พระนางพญา” (พิษณุโลก) และ “พระรอด” (ลำพูน) หลังจากนั้นไม่นานจึงได้ผนวก “พระซุ้มกอ” (กำแพงเพชร) และ “พระผงสุพรรณ” (สุพรรณบุรี) จนกลายเป็นชุดพระเครื่องที่เป็นสุดยอดปรารถนาของนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย

      การจัดทำทำเนียบชุดพระเครื่อง “เบญจภาคี” นี้เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้พระเครื่องทั้ง ๕ องค์ในชุดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ราคาเช่าทะยานขึ้นจนสูงลิ่ว โดยเฉพาะพระสมเด็จนั้น ราคาเช่าในปัจจุบันอยู่ในหลักล้านไปจนถึงหลายสิบล้านบาททีเดียว

      ทุกวันนี้ ไม่เพียงพระสมเด็จองค์ดังๆ หรือพระอื่นในชุดเบญจภาคีจะมีราคาสูงลิ่ว แต่พระเครื่ององค์อื่นที่มีการ “รับประกัน” ว่า “แท้” นั้น ก็ยังเป็นของมีราคา บางองค์ที่ “แท้” แม้จะมีสภาพไม่สมบูรณ์ก็ยังเป็นที่ต้องการของนักสะสม ยิ่งถ้าเป็นพระสมเด็จแล้วละก็ แม้แต่เศษเสี้ยวขององค์พระที่แตกหัก ก็ขายได้หลายแสน เรียกว่าทุกอณูของดินก้อนนี้มีมูลค่ามหาศาล

      หากพิจารณาจาก “ผงดิน” หรือ “วัสดุ” ซึ่งประกอบกันขึ้นมาเป็นพระเครื่องเหล่านี้แล้ว คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า นี่เป็นผงดินที่แพงที่สุดในโลก

      สำหรับพระเครื่ององค์เล็กๆ

      มูลค่า-ราคา อันมหาศาลนั้น เกิดจากอะไรกันแน่ ?

การตลาด” ในโลกพระเครื่อง
      ทุกวันนี้ หากจะหาคนที่พกตะกรุด ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด เป็นเครื่องรางประจำตัว คงหาได้ยากเต็มที แต่เชื่อว่าคนรอบข้างเรา ต้องมีใครสักคนที่มีพระเครื่อง ห้อยคออยู่เป็นแน่

      รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ว่า “วงเงินหมุนเวียนในธุรกิจพระเครื่อง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องในปี ๒๕๔๖ มีมูลค่าสูงถึง ๑ หมื่นล้านบาท ธุรกิจเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๔๘ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง ๒ หมื่นล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ ๑๐-๒๐ ต่อปี” อาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมพระเครื่องของคนไทยยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

      และเพราะ “ปรากฏการณ์ทางสังคม” ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจ การเมือง และพื้นฐานทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ก็น่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ที่พระเครื่องก้าวขึ้นมาเป็นสุดยอดเครื่องรางของขลังในวัฒนธรรมไทยนั้น มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่

      ในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปีของคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายนที่ผ่านมา ฉลอง สุนทราวาณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอภิปรายในหัวข้อ “จากเกจิท้องถิ่นสู่ภูมิภาค : พระเครื่องกับอาชญากรรม และความรุนแรงในสังคมไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒“ ได้เสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระเครื่องได้รับความนิยมแพร่หลายในสังคมยุคแรกมีอยู่หลายประการ ตั้งแต่เทคโนโลยีการทำเหรียญกษาปณ์ที่เข้ามาในเมืองไทยราวปี ๒๔๐๑ (สมัยรัชกาลที่ ๔) ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลิตเหรียญพระเครื่องของพระเกจิอาจารย์ต่างๆ หลากหลายรูปแบบขึ้นตามมา ความตื่นตัวในการศึกษาโบราณสถาปัตยกรรมทางศาสนา และการสะสมโบราณวัตถุในหมู่ชนชั้นสูง และชนชั้นกลางในเมืองที่นำไปสู่การขุดค้นโบราณสถาน และทำให้มีการค้นพบพระพิมพ์โบราณจำนวนมาก ความรุนแรงทางการเมืองทั้งภายใน และภายนอกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เช่น กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กรณีวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ ที่ทำให้ผู้คนเกิดความหวาดวิตก และไม่มั่นใจในสวัสดิภาพ และความปลอดภัย

      “ในขณะที่ความรุนแรงจากภัยคุกคาม และปัญหาความมั่นคงภายใน เป็นแรงหนุนส่งทำให้ความต้องการเครื่องรางคุ้มกันภัยเพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีการทำพระเครื่องแบบใหม่ๆ และการค้นพบพระพิมพ์โบราณจากกรุตามโบราณสถานทางศาสนา ไม่เพียงเพิ่มปริมาณของพระเครื่อง สนองตอบกระแสความต้องการนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบพระเครื่องที่เป็นทางเลือก และสีสัน มีทั้งพระกรุโบราณ พระพิมพ์ที่ทำขึ้นใหม่ พระหล่อโลหะแบบโบราณ เหรียญพระเครื่อง และเหรียญเกจิที่ทำตามกรรมวิธีแบบตะวันตก ทำให้ความนิยมพระเครื่องแพร่หลายตามลำดับ”

      ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมา ทำให้ความนิยมพระเครื่องสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงอย่างนั้น เครื่องรางของขลังอื่นๆ เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เขี้ยวเสือ ก็ยังได้รับความนิยมกันอยู่อย่างแพร่หลาย กระทั่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เองที่พระเครื่องเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นจนกระทั่งก้าวขึ้นสู่สถานะความเป็น “สุดยอด” เครื่องรางไทย เบียดขับเครื่องรางประเภทอื่นๆ ออกไปจาก “วัฒนธรรมเครื่องรางไทย” เกือบสิ้นเชิง ซึ่งฉลองวิเคราะห์ไว้ว่าน่าจะมีเหตุผลอย่างน้อย ๓ ประการ

      ประการแรก คือการมาถึงของ “กึ่งพุทธกาล” ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งนำไปสู่กิจกรรมทางศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างพระเครื่องที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นกว่าสมัยใดๆ


      ประการต่อมา เกิดจากความตื่นตัวในการศึกษาพระเครื่องอย่างเป็นระบบ คือเริ่มมีการศึกษาพระเครื่องในฐานะที่เป็นเครื่องรางอย่างแท้จริง ด้วยวิธีการ และการบรรยายเนื้อหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งสอดคล้อง และตอบสนองต่อรสนิยมของชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

      “งานเขียนที่สำคัญพวกนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการเล่าเรื่องราว ‘อภินิหาร’ ของพระเครื่องอย่างดาดๆ ทื่อๆ หวือหวา ก่อกระแสเร้าอารมณ์ให้ผู้คนหลงงมงาย แต่เป็นการศึกษาอย่างจริงจัง อาศัยหลักวิชา และมุ่งยกระดับการศึกษาพระเครื่องอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงเจาะทะลุทะลวงไปในหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ศิลปะ เอกสารประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี และมุขปาฐะอย่างกว้างขวาง เพื่อบรรยายประวัติการสร้างพระเครื่อง กรรมวิธีการสร้าง มวลสารที่ใช้ ประวัติการค้นพบ และคุณวิเศษของเกจิอาจารย์ผู้สร้างอย่างละเอียดลออ ทำให้พระเครื่องมี ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘ความจริงของการดำรงอยู่’ มากกว่าการเป็นเพียงวัตถุ และอำนาจลี้ลับที่จับต้องไม่ได้เท่านั้น แต่ยังมีความพยายามอย่างจริงจังหนักแน่นที่จะอภิปรายถกเถียงถึงคุณค่าของพระเครื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล”

      และสุดท้าย คือความนิยมในพระเครื่องที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสงคราม อันนำไปสู่การเกิด “ตลาดพระเครื่อง” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

      คำบอกเล่าส่วนใหญ่ให้ภาพตรงกันว่า สนามพระ หรือ ตลาดพระเครื่อง แห่งแรกเกิดขึ้นที่ “บาร์มหาผัน” ซึ่งเป็นร้านกาแฟ อยู่ใกล้ๆ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยในช่วงแรกจะมีบรรดาข้าราชการ ทหาร ตำรวจ มานั่งจิบกาแฟ และพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพระเครื่อง มีการนำพระมาแลกกันดู ต่อมา จากที่แลกเปลี่ยนกันดูเฉยๆ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนมือ และจากการใช้พระแลกพระ ก็เริ่มเปลี่ยนมาแลกด้วยเงิน แต่สมัยนั้น คำว่า “ซื้อ” “ขาย” ดูจะไปกันไม่ได้เลยกับพระเครื่องที่ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ดังนั้นจึงใช้คำว่า “เช่า” และ “ให้เช่า” แทน

      การเติบโตของตลาดพระเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่นาน บาร์เล็กๆ แห่งนี้ก็ไม่เพียงพอสำหรับนักเลงพระที่มาชุมนุมกันมากขึ้นๆ จึงพากันย้ายชุมนุมเข้าไปอยู่ในวัดมหาธาตุ

      “พอเข้าประตูวัดไป ก็จะเจอลานอโศก ช่วงนั้นใต้ต้นอโศกจะมีแผงพระเต็มไปหมดเลย วางกับพื้นบ้าง วางบนโต๊ะบ้าง แผงเล็กแผงน้อยประมาณ ๒๐ เจ้า ต่อมาคนเยอะขึ้นประมาณ ๓๐-๔๐ เจ้า ก็เริ่มขยายไปถึงรอบๆ วิหารน้อย เมื่อแถบวิหารน้อยเริ่มคับแคบไป ก็รุกเข้าไปในเขตวัดอีก พอชักมั่วทางวัดก็เลยไล่ เพราะคนที่เข้าไปเล่นพระมีทั้งคนดีคนชั่ว” สุธน ศรีหิรัญ บรรณาธิการนิตยสาร ลานโพธิ์ (นิตยสารพระเครื่องที่มีอายุยาวนานที่สุดในเวลานี้) ผู้เคยคลุกคลีอยู่ในวงการพระเครื่องมาตั้งแต่ต้น บอกเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟัง

      หลังจากนั้น นักเลงพระก็แตกกันออกเป็น ๒ กลุ่ม หนึ่งนั้นย้ายมาอยู่ที่สนามพระวัดราชนัดดา อีกหนึ่งแตกไปอยู่ที่ตลาดท่าพระจันทร์ และต่อมาตลาดพระเครื่องก็ได้กระจายออกไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ แม้ในจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน เช่น ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ก็ยังพบว่ามีสถานที่ซื้อขายพระเครื่องด้วยเช่นกัน

      ๒๐ ปีที่ผ่านมาหลังการเกิดขึ้นของชอปปิงเซ็นเตอร์ที่ทันสมัยอย่าง มาบุญครอง พันธุ์ทิพย์พลาซ่า เดอะมอลล์ ตลาดพระส่วนหนึ่งก็ได้ย้ายขึ้นไปอยู่ในอาคารทันสมัยเหล่านี้ กลายเป็นตลาดพระติดแอร์ที่มักเรียกกันว่า ศูนย์พระเครื่อง พร้อมทั้งมีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอ “สินค้า” และการทำการตลาดที่ทันสมัยมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถพบตลาดพระเครื่องในโรงแรมระดับห้าดาว อาทิ “มณเฑียรพลาซ่า” ศูนย์พระเครื่องอันโอ่อ่าหรูหราซึ่งตั้งอยู่ในโรงแรมมณเฑียร

      นอกจากนี้ ตลาดพระเครื่องซึ่งเป็นแหล่งรวมพระเครื่องทุกรุ่น ทุกพิมพ์ ที่หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ รวมถึงเป็นแหล่งรวมเซียนพระ-คนเล่นพระทั้งหลายนี้ ยังเป็นเสมือน “ห้องเรียน” ให้ผู้สนใจพระเครื่องหน้าใหม่ๆ ได้เข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ ไม่ว่าจะเป็น การดูพระแท้พระปลอม พระรุ่นใด “เด่น” ทางไหน พระเกจิรูปใดมี “คุณวิเศษ” อย่างไร ฯลฯ ไปจนถึงเรื่องเชิงวิชาการอย่างประวัติการสร้าง ความรู้ด้านโบราณคดี ฯลฯ ข้อมูลความรู้ที่ถ่ายทอดกันในตลาดพระเหล่านี้ ไม่เพียงขยายวงของผู้เล่น-ศึกษา-สะสม หากในทางหนึ่งยังทำให้สินค้า คือพระเครื่องต่างๆ ในตลาด มี “ความน่าเชื่อถือ” และ “มูลค่า” เพิ่มขึ้น และในหลายกรณี การทำ “การตลาด” ในแวดวงพระเครื่องเช่นที่ว่ามานี้ ก็ไม่ใช่แค่ส่งผลให้พระเครื่องมีมูลค่าทางการตลาดเท่านั้น หากยังเป็นสินค้าที่ “มีสภาพคล่อง” ทางการตลาดอีกด้วย

      เหล่านี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้พระเครื่องไต่อันดับขึ้นไปเป็น “สุดยอด” เครื่องรางของขลังของคนไทยไปในที่สุด

ตลาดพระ โลกของคนเล่นพระ
      “ตัวนี้เท่าไหร่”
      “สามร้อย”
      “ร้อยหนึ่งแล้วกัน”
      “สองร้อยขาดตัว”

      เสียงต่อรองราคาแบบนี้อาจจะได้ยินอยู่บ้างตามริมทางเดินตลอดแนวถนนท่าพระจันทร์ แต่หากเดินเข้าไปในซอยสักหน่อย ก็จะเจอกับ “ของจริง”

      ตลาดพระเครื่องท่าพระจันทร์ เป็นตลาดพระที่เก่าแก่ที่สุด และใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่ง เป็นแหล่งรวมพระเครื่องทุกรุ่น ทุกชนิด ทั้งพระเนื้อดิน เนื้อชิน เหรียญเกจิ พระกรุ ฯลฯ รวมถึง “พระเก๊” ที่แฝงตัวปะปนกับ “พระแท้” ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน หลักล้าน และนอกจากเป็นแหล่งรวมพระเครื่องแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งชุมนุมสำคัญของ “คนเล่นพระ” ด้วย

      ตลาดพระแห่งนี้เปิดทำการทุกวัน ไม่มีวันหยุด แถมบรรยากาศยังคึกคักตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ ที่มักจะมีคนเอาพระใหม่ๆ เข้ามา ข่าวพระใหม่แพร่ไปเร็ว แป๊บเดียวก็รู้กันทั่วตลาด ก่อนจะพากันแห่ไปดู ที่นี่เป็นแหล่งชุมนุมเซียนพระรุ่นเก่าจำนวนมาก ทั้งที่ยังมีชื่ออยู่ในวงการ และที่ “ถอย” ออกมาอยู่นอกวงการ แต่ยังรักที่จะสะสม และศึกษา

      ห่างจากตลาดท่าพระจันทร์ราว ๓๐ กิโลเมตร การต่อรอง “สินค้า” ประเภทเดียวกันดำเนินไปในห้องกระจกติดแอร์ บนชั้น ๔ ของห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า สาขางามวงศ์วาน นักสะสมรุ่นใหญ่ที่มาพร้อมบอดี้การ์ดชุดดำ นั่งอยู่หน้าเซียนพระชื่อดัง มีกล้องส่องพระอันเล็กๆ แนบชิดติดตา เพ่งพินิจพระเครื่ององค์เล็กในมือ ศูนย์พระเครื่องภายในห้างแห่งนี้มีร้านจำหน่ายพระเครื่องอยู่ราว ๑๐๐ ร้าน ยังไม่นับแผงพระด้านนอกอีก ๓๐๐-๔๐๐ แผง คนคึกคักตลอดทั้งวันเช่นเดียวกับศูนย์พระเครื่องอื่นๆ ที่ปัจจุบันมักจะขึ้นไปปักหลักอยู่บนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ทั่วประเทศ

      ตัวเลขหลักล้านหรืออาจจะไต่ระดับไปถึง ๑๐ ล้านบาทเป็นวงเงินที่มีการซื้อขาย-แลกเปลี่ยนกันเป็นเรื่องปรกติ นี่เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องการการค้ำประกัน ใจต่อใจ ถ้าเบี้ยว โกง หรือ “เก๊” ก็จะถูกขับออกจากวงการจนไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเลยทีเดียว

      “รู้จักกันหมด จะชั่วจะดีปิดไม่มิดหรอก” เจ้าของร้านซึ่งเป็นเซียนพระชื่อดังที่คนในวงการรู้จักดีบอก

      ตลาดพระในปัจจุบันมีอยู่มากมายแทบทุกหัวมุมเมือง แม้แต่ซอกหลืบที่เรานึกไม่ถึง ไล่ไปจาก

      แผงพระเครื่อง มีทั้งแผงประจำ และแผงจรที่มักจะหิ้วกระเป๋าหิ้วหมุนเวียนไปตั้งแผงตามที่ต่างๆ

      ชมรมพระเครื่อง อาจมีผู้ประกอบการคนเดียวหรือหลายคน ส่วนใหญ่จะใช้บ้านของตนหรือเช่าอาคารพาณิชย์เป็นสถานประกอบการ ชมรมพระเครื่องที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ชมรมพระเครื่อง พระบูชา สวนจตุจักร ชมรมจักรวาลพระเครื่อง บางลำพู (อยู่บนอาคารทานตะวัน ถนนรามบุตรี)

      ศูนย์พระเครื่อง มักอยู่ในศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ หรือในโรงแรมหรู เช่น ศูนย์การค้าเดอะสีลมแกลเลอเรีย ถนนสีลม ศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า พาหุรัด มณเฑียรพลาซ่า ศูนย์พระเครื่องบางแห่งอาจมีผู้ประกอบการหลายร้อยราย

      ตลาดพระเครื่อง มักพบได้ตามชุมชนใหญ่ๆ โดยขนาด และการซื้อขายไม่ต่างจากศูนย์พระเครื่องนัก ผิดกันก็แต่สถานที่ และกลุ่มผู้ซื้อ-ขาย ตลาดพระเครื่องที่เก่าแก่ และรู้จักกันดี คือตลาดพระเครื่องท่าพระจันทร์

      นอกจากที่ว่ามา พื้นที่ใหม่สำหรับพระเครื่อง และคนเล่นพระที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราว ๓-๔ ปีมานี้ ก็คือเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งมีคนเข้าใช้บริการหลายพันคนต่อวัน รวมถึงบริษัทไปรษณีย์ไทยที่เปิดบริการให้เช่าพระทางไปรษณีย์ด้วย

      พ้นไปจาก “ตลาดพระ” เหล่านี้ อีกสิ่งที่ “เกื้อหนุน” ธุรกิจพระเครื่องให้ดำเนินไปได้ และเราคงไม่อาจมองข้าม ก็คือ “สื่อมวลชน”

      งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ วีระพงษ์ อินทรพานิช เมื่อปี ๒๕๔๘ ทำการวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้การตีพิมพ์ภาพ และเรื่องราวของพระเครื่องจะไม่เน้นเรื่องการซื้อขายพระเครื่องโดยตรง แต่สื่อมวลชนก็มีบทบาทอย่างยิ่งในการที่จะกระตุ้น ชักชวน หรือโน้มน้าวจิตใจ ให้บรรดานักสะสมตลอดจนประชาชนทั่วไปแสวงหาพระเครื่องนั้นๆ มาครอบครอง

      ต่อเรื่องนี้ นิพันธ์ เลิศนึกคิด บรรณาธิการนิตยสาร ศึกษา และสะสม ให้ข้อมูลว่า

      “ปัจจุบันมีนิตยสารพระเครื่องอยู่ตามแผงราว ๖๐ หัว แบ่งได้ ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ทำเพื่อศึกษา ให้ข้อมูลเชิงวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ได้หลายปี ส่วนอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มที่ทำเพื่อขายพระโดยเฉพาะ โดยเอาพระปลอมที่มีอยู่มาประกาศขาย ย้อมแมวว่าเป็นพระจริง พอเหยื่อหลงเชื่อ ติดต่อซื้อขายได้เงินเรียบร้อย ก็ปิดหนังสือหนี ส่วนใหญ่จะมีอายุแค่ ๑-๒ ปีก็ปิดตัวไป”

      ทุกวันนี้นอกจากนิตยสารพระเครื่องแล้ว ยังมีการเปิด section พระเครื่องในหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ โดยเริ่มจากลงเป็นคอลัมน์รายสัปดาห์ มีให้อ่านเฉพาะในวันอาทิตย์ มาในช่วง ๓-๔ ปีให้หลังจึงกลายเป็น section ประจำ มีให้อ่านกันทุกวัน และจากที่มีหน้าเดียว ก็เพิ่มเป็น ๒ หน้า (มากกว่า section การศึกษา คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม เด็ก และสตรี เสียอีก) คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ความสนใจพระเครื่องในหมู่ประชาชนแพร่หลายกว้างขวางออกไปมากขึ้น


พิธีพุทธาภิเษกเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕
ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหัวดสุพรรณบุรี ผู้จัดบอกว่า
"ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ในการจัดสร้าง
พระมเหศวรย้อนยุค พระผงสุพรรณย้อนยุค" โดยพระเกจิ
อาจารย์ ๙๙๙ รูป นั่งปรกพร้อมกัน ท่ามกลางฟ้า-ดิน

      เมื่อเปิดหนังสือพระเครื่อง หรือเหลือบแลไปยังคอลัมน์เกี่ยวกับพระเครื่องในหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากข้อมูล-เรื่องราวเกี่ยวกับพระเครื่องในแง่ประวัติความเป็นมา (กรุไหน-ใครสร้าง-สร้างเมื่อไร ฯลฯ) พุทธลักษณะ (พิมพ์ รูปทรง เนื้อ ฯลฯ) พุทธคุณ (ให้โชคลาภ เมตตามหานิยม ฯลฯ) แล้ว ยังหนีไม่พ้นที่จะพบเรื่องเล่าถึงอภินิหารต่างๆ ตลอดจน “ประสบการณ์” อันเกิดจากการใช้พระเครื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการแคล้วคลาดจากอันตราย (ซึ่งในวงการจะเรียกพระเครื่ององค์นั้นๆ ว่าเป็นพระเครื่องที่ “มีประสบการณ์”) อันอาจทำให้ผู้อ่านนึกอยากได้พระเครื่ององค์นั้นๆ มาครอบครอง นี่ยังไม่รวมการกล่าวอ้างถึงมูลค่า-ราคา ของพระรุ่นนั้นรุ่นนี้ ที่ชวนให้นักเลงพระตาลุกกับการเก็งกำไร ฯลฯ พฤติกรรมของสื่อเช่นนี้ก็คือการนำแนวคิดด้านการตลาด และการโฆษณาประชาสัมพันธ์มาใช้ใน “ธุรกิจ” ของตน และในแง่นี้พระเครื่องก็เป็นสินค้าที่ “สร้างภาพ” ได้ กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคได้ ไม่ต่างไปจากสินค้าตัวอื่นๆ ในท้องตลาด

      ในธุรกิจนี้ ไม่เพียงแต่ตัวสินค้าเท่านั้นที่มุ่งขายกัน หากตัว “ผู้ขาย” เองก็ต้องทำ “การตลาด” ด้วย ใครที่เคยเปิดดูหนังสือพระเครื่อง คงได้เห็นล้อมกรอบโฆษณาขนาดสองคอลัมน์นิ้วกระจายอยู่ทั่วเล่ม ในนั้นมีชื่อเซียนพระที่รู้จักกันดีในวงการ ไม่ว่าจะเป็น ต้อย เมืองนนท์ พยับ คำพันธุ์ ป๋อง สุพรรณ เล็ก รูปหล่อ อู๊ด สุพรรณ เอ็ด คเณศ์พร โต คลองตัน ฯลฯ ชื่อเหล่านี้เป็นเหมือน “ยี่ห้อ” ในการทำธุรกิจที่สำคัญไม่แพ้ตัวสินค้า เพราะลูกค้าจะเช่าพระจากเซียนพระหรือผู้ประกอบการรายใด ก็ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจใน “ยี่ห้อ” เหล่านี้เป็นสำคัญ

      กล่าวกันว่า หากเซียนพระคนใดมีความรู้ความสามารถในการรวบรวมข้อมูล ประวัติ รูปภาพของพระเครื่องชนิดต่างๆ จนสามารถเขียนหนังสือประวัติพระเครื่อง (รวมถึงวัตถุมงคลอื่นๆ) ได้ ก็นับเป็นการสร้าง “ภาพลักษณ์” และ “ความน่าเชื่อถือ” ให้แก่ตนเองในฐานะผู้รู้ และหากเซียนพระหรือผู้ประกอบการรายใดเลือกขายเฉพาะพระ “แท้” ลูกค้าก็จะเกิดความเชื่อมั่นในสินค้า และบริการ เกิดความเชื่อถือ ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อพระกับเซียนพระหรือผู้ประกอบการรายเดิมอีกครั้ง นับเป็นการสร้าง “ตราสินค้า” หรือ “Brand” ให้แก่ตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจซื้อขายพระเครื่องของเขาต่อไป

      “คนที่ได้ขึ้นชั้นเป็นเซียนน่ะ ได้รับการยอมรับ ภาษีดี จะซื้อก็ง่าย จะขายก็คล่อง” เจ้าของศูนย์พระเครื่องรายหนึ่งย่านสีลม บอกกับฉันอย่างนั้น

      และเนื่องจากพระเครื่องเป็นของที่ไม่มีราคาตายตัว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพอใจ ทั้งราคายังผกผันได้ตามกระแส การตื่นพระ การตีปี๊บ ช่วยส่งให้ราคาพระเครื่องไต่ระดับจากหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหรืออาจแค่ภายในไม่กี่สัปดาห์ สถานะของ “เซียนพระ” ที่ “ซื้อง่าย-ขายคล่อง” เช่นว่า คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ใครๆ อยากจะก้าวขึ้นมาเป็นเซียนพระกัน แต่นั่นก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

      ที่ว่ามาเป็นเรื่องของคนขาย แล้วคนซื้อล่ะ ?

      ในรายงานการวิจัย “พระเครื่องกับสังคมไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีผลกระทบที่มีต่อภาวะความเป็นอยู่ทางสังคมของคนไทย” ของ ผศ. พรชัย ลิขิตธรรมโรจน์ และ รศ. ถาวร เกียรติทับทิว ซึ่งทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่นิยมสะสมพระเครื่องในแง่แรงจูงใจหรือมูลเหตุในการสะสม พบว่า ร้อยละ ๖๙.๓-เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ร้อยละ ๔๘.๒-เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันภัยอันตราย ร้อยละ ๒๒.๗-เป็นเครื่องบันดาลให้เกิดโชคลาภ ร้อยละ ๑๙.๘-เป็นส่วนหนึ่งในการสืบต่อพระศาสนา ร้อยละ ๑๙.๒-เพื่อศึกษาในเชิงพุทธศิลปะหรือวัฒนธรรม ร้อยละ ๑๓.๗-สะสมไว้เพื่อจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยน และ ร้อยละ ๑.๖-เพื่อเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม

      ส่วน สุธน ศรีหิรัญ ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงพระเครื่องมานาน ชี้ว่า

      “คนเล่นพระสมัยก่อนมี ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเล่นในเชิงสะสม อนุรักษ์ของเก่า หรือเชิงโบราณคดี คนพวกนี้มองว่าการสร้างพระเครื่องก็เพื่อสืบพุทธศาสนา เขาจะนิยมเล่นพระกรุยุคต้นรัตนโกสินทร์ย้อนขึ้นไปถึงยุคทวารวดี เก็บพระเก่า และศึกษาความเป็นมา อายุ กรุ ตำนานการสร้าง ส่วนอีกกลุ่มนั้นเล่นเพราะความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ สนใจพระที่มีประสบการณ์ หมายถึงพระที่เกจิอาจารย์เป็นผู้สร้าง และปลุกเสก มีความขลัง คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่ากลุ่มแรก และค่อยๆ ใหญ่ขึ้น”

      แต่นั่นอาจไม่น่าสนใจเท่ากับสิ่งที่เขาทิ้งท้าย

      “ปัจจุบัน คนที่เล่นเป็นธุรกิจจะมากกว่า คือซื้อมาขายไป เก็งกำไร เพราะรู้ว่าสินค้าตัวนี้ยังไงก็ขายได้ และราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย”

บริการหลังการขาย
      ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ในธุรกิจพระเครื่อง “ความน่าเชื่อถือ” ของผู้ขายคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการรายนั้น “ซื้อง่าย-ขายคล่อง”

      ดังนั้นสิ่งที่จะสั่นสะเทือนความน่าเชื่อถือที่ว่าก็คือ การที่ผู้ซื้อมารู้ภายหลังว่า พระเครื่องที่ซื้อมาจากเซียนพระหรือผู้ขาย เป็น “พระเก๊”

      “คนที่มาซื้อพระแล้วโดนหลอก ส่วนมากมักเป็นคนที่ไม่มีความรู้ เชื่อถือผู้ขายอย่างเดียว พอรู้ว่าเป็นของเก๊ ก็เหมาหมดว่าคนในวงการนี้เป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ เกิดความเสียหายแก่วงการหลายๆ อย่าง” เซียนพระรุ่นเก่าแห่งตลาดพระเครื่องท่าพระจันทร์กล่าว

      การปลอมพระอยู่คู่กับวงการพระเครื่องมานานแล้ว ว่ากันว่าน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่เริ่มเกิดตลาดพระขึ้นด้วยซ้ำ (ราวปี ๒๕๐๐) เพียงแต่วิธีการปลอมพระยังไม่ “เนียน” เท่าปัจจุบัน

      ทุกวันนี้พระปลอมกับพระจริงนั้นเหมือนกันแทบแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ทรง ตำหนิ หรือผงวัสดุ (มวลสาร) ที่นำมาใช้ การปลอมพระเป็นไปอย่างแนบเนียนภายใต้เทคนิควิธีสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการฝังดิน ใช้สารเคมีปรุงแต่งให้ดูเก่า ใช้ความร้อน ฯลฯ

      “จะปลอมได้เหมือนก็ต้องดูพระเป็น รู้ว่าจุดไหนที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นจุดตาย ต้องทำให้เหมือน ยิ่งเซียนเท่าไรยิ่งทำเหมือน” เซียนพระเจ้าของนิตยสารพระเครื่องรายเดือนฉบับหนึ่งกล่าว

      เมื่อนักเลงพระหรือเจ้าของพระรายใดต้องการ “เช็ก” ว่าพระเครื่องที่ซื้อมานั้นแท้หรือเก๊ วิธีหนึ่งที่นิยมกันก็คือ “แห่” ซึ่งหมายถึง เอาไปให้เซียนพระที่เชี่ยวชาญพระชนิดนั้นๆ ดู หรือวานให้คนรู้จักเอาไปเช็กกับเซียนพระให้ โดยที่เจ้าของพระไม่ต้องบอกว่าเป็นพระของใคร ได้มาจากไหน ส่วนอีกวิธีที่นิยมก็คือ ส่งประกวดตามงานประกวดพระที่จัดกันแทบทุกสัปดาห์

      “ผมไม่เข้าไปนั่งรับพระในด่านแรก เพราะมีเหตุผลบางอย่าง”

      เซียนพระรายหนึ่งบอก ก่อนให้เหตุผล

      “เวลาคนที่ส่งพระประกวดยื่นพระเข้าไปปั๊บ แล้วกรรมการรับพระของเขา เขาจะมีความสุขมาก มันเหมือนเป็นการรับรองว่าอย่างน้อยพระของเขาก็ ‘แท้’ แต่จริงๆ เขาไม่รู้หรอกว่า มันมีตื้นลึกหนาบางกว่านั้นอีกมาก

      “อย่าลืมว่าสินค้านั้นมีคนอื่นขายมาอีกที การที่เราเป็นผู้รับพระก็เหมือนเป็นผู้รับรอง ถ้าของที่ส่งเข้ามามันใช่ มันแท้ ผมก็รับเข้า ของที่ไม่ใช่ผมก็เขี่ยออก แต่เมื่อไรที่สินค้านั้นถูกตีกลับ เจ้าของต้องเอาไปคืนคนขาย ปัญหาเกิดแน่นอน ดังนั้นมันจึงต้องมี ‘บริการหลังการขาย’ สมมุติเซียนพระคนที่ขายพระองค์นี้ออกไปรู้ว่าสินค้าตัวนี้จะมาส่งในงานนี้แน่นอน เขาจะจัดคนของเขามานั่งรับตรงนี้เลย รับเข้ามาก่อน แล้วหาวิธีแก้ทีหลัง เจ้าของพระก็ชื่นใจแล้วว่าพระที่ตัวเองซื้อมาแท้แน่นอน เป็นบริการที่ผู้บริโภคไม่มีทางรู้เลย

      “ผ่านชั้นแรกแล้ว ก็ต้องให้กรรมการตัดสินดูอีก มาถึงตอนนี้ ถึงผมเป็นกรรมการ ผมบอกว่าของชิ้นนี้ไม่แท้นะครับ แต่อีก ๔ เสียงบอกว่าแท้ ก็จบ ตามกติกาเราใช้เสียงข้างมาก ตอนตัดสินว่าองค์ไหนชนะเลิศก็เหมือนกัน ผมว่าไม่สวยแต่ที่เหลือเขาว่าสวย ของชิ้นนั้นก็ติดรางวัล นี่เรียกว่าบริการหลังการขายชั้นที่ ๒ ในชั้นนี้มันขึ้นอยู่กับว่าใครมีพาวเวอร์มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีมาก เขาก็สั่งการลงมาได้ เฮ้ย จัดการประมาณนั้น แต่ถ้าคนขายไม่มีพาวเวอร์ในวงการก็เสร็จ ไปขอใครก็ไม่มีใครช่วย

      “ชั้นที่ ๓ ก็คือการเอารูปพระนั้นไปลงในนิตยสารพระเครื่อง ว่าเป็นพระแท้ เป็นพระดี หรือทำหนังสือภาพชนะการประกวด หนังสือพวกนี้ก็จำหน่ายจ่ายแจกกันออกไป เจ้าของพระก็ชื่นใจ นี่ไงๆ พระผม ชั้นที่ ๔ ยังไม่มีปรากฏ แต่ผมสามารถมองได้ถึง ๑๐ ชั้นเลยว่าเขาจะทำอะไรต่อ คนที่อยู่ในจุดสูงสุดของวงการพระเครื่อง ถ้าเงินไม่หนา ก็ต้องมีบารมีอำนาจ ถ้าไม่มีบารมีอำนาจ และเงินไม่หนา คุณก็ต้องมีความรู้ความสามารถที่ทุกคนต้องเกรงใจคุณ”

      นี่อาจเป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำให้คนในวงการจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนพระรุ่นอาวุโสทั้งหลาย เลือกที่จะ “ถอย” ออกมาอยู่ห่างๆ บ้างก็ว่าไม่อยากไปขัดขวางผลประโยชน์ บ้างก็ว่าไม่อยากเสียเพื่อน หลายคนจึงเลือกที่จะสะสม ซื้อขาย-แลกเปลี่ยนอย่างเงียบๆ โดยวิธีโทรศัพท์ติดต่อให้มาดูที่บ้าน หรือนัดมาดูของที่ทำงานโดยตรง หรืออย่างมากก็เปิดร้านเล็กๆ ไว้สำหรับเป็นที่พบปะสังสรรค์ สุขใจกับการได้แลกเปลี่ยน ศึกษา สะสม กับคนคอเดียวกันเพียงไม่กี่คน

      แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกคนที่เข้าไปเป็นกรรมการตัดสินในงานประกวดพระเครื่องจะทำเพื่อ “บริการหลังการขายอย่างเดียว” หลายคนให้เหตุผลว่าที่ยังแวะเวียนไปงานประกวดพระอยู่บ้าง ก็เพื่อให้เท่าทันวงการ รู้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการปลอมพระก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว บางคนก็เข้าไปเพื่อพบปะเพื่อนฝูง ขณะที่บางคนก็หวังจะไป “จับพระ” โดยเฉพาะกรรมการที่นั่งประจำโต๊ะรับพระ จะได้เห็นพระใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้าตลาดก่อนใคร และมีโอกาสคว้าไว้ก่อนในราคาไม่สูงนัก

      “การจัดงานประกวดพระไม่ได้มีแต่ด้านไม่ดี ในการจัดงานแต่ละครั้ง รายได้กระจายไปยังคนหลายกลุ่ม ทั้งคนที่ขายของ ขายน้ำ คนเลี่ยมพระ คนขายมีด คีม แว่นส่องพระ หนังสือ และยังแผงพระรายย่อยๆ อีก หลายคนที่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้ก็เป็นผลต่อเนื่องจากการจัดงานทั้งนั้น” แล่ม จันทร์พิศาโล เจ้าของคอลัมน์ “คมเลนส์ส่องพระ” แห่งหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก พูดถึงอีกด้านของวงการพระเครื่อง ขณะที่เซียนพระชื่อดังอีกคนให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

      “งานประกวดพระต้องแบ่งเป็น ๒ เกรดนะ แบบสร้างชื่อเสียงกับแบบหากิน มาตรฐานคนละอย่าง สมัยก่อน งานระดับที่มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือ ได้แก่งานที่จัดที่พุทธมณฑลปีละครั้ง แต่อย่างงานที่ไปจัดตามวัด โรงเรียน ศูนย์การค้า เขาไม่ค่อยให้ความเชื่อถือ และส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นงานการกุศล รายได้เยอะ แต่หักค่าถ่ายรูป ค่าแผง ค่าบัตร ค่าโล่ ก็เป็นล้านแล้ว เหลือการกุศล ๒ แสน แต่หลายงานก็โปร่งใส อย่างงานที่ธรรมศาสตร์จัดเมื่อปี ๒๕๔๗ หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงินบริจาคให้สมาคมนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ๓ ล้าน ๗ แสนบาท ดังนั้นเราต้องแยกว่าเป็นงานแบบไหน ตลาดพระเป็นตลาดแบบไหน คนขายพระเป็นคนประเภทไหน ศูนย์พระเครื่องบางที่ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเล่นอิทธิพล มีขาใหญ่ แต่บางที่เป็นตลาดเก่า ไม่มีตัวเด่น ไม่มีนักเลง”

      พอใครบางคนถามขึ้นว่า แล้วงานประกวดพระเครื่อง “ระดับช้าง” ที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี่ล่ะ เป็นอย่างไร ?

      “ที่นั่นเจ้าประจำ คอยดู เดี๋ยวก็จะมีการเหยียบตีนกัน” เขาว่ายิ้มๆ

ชิ้นส่วนของโลกเก่าในโลกยุคใหม่
      เป็นเวลากว่า ๒ เดือนเต็มๆ ที่ฉันเดินเข้าออกในห้างสรรพสินค้ากลางเมืองหลายแห่ง ผ่านซุ้มโปรโมชันรถยนต์รุ่นล่าสุด ผ่านเคาน์เตอร์ขายเครื่องสำอางที่ใช้เทคโนโลยีนาโน ผ่านสินค้าล้ำสมัยที่พร้อมจะตอบสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ จนแทบไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเองอีกแล้ว เพื่อไปยังโซนพระเครื่องที่ดูจะ “ไปกันไม่ได้” เลยกับภาพที่ผ่านสายตามาทั้งหมดนั้น

      บางครั้ง ฉันสงสัย--ขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า มีความเจริญทางวัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ “ข้างใน” ของคนกลับอ่อนแอลง ? ความอ่อนแอนำมาสู่การแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยว ที่พึ่งพิงทางใจ ทำให้คนทุ่มเทเงินนับล้านเพื่อแลกกับ “พลานุภาพ” ที่เชื่อว่ามีอยู่ในองค์พระเครื่องนั้นๆ ?

      และที่สุด ความเชื่อ และศรัทธา ก็เป็นเพียงสิ่งหนึ่งเหมือนสิ่งอื่นๆ บนโลกใบนี้ ที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์แบบ ?

      “พัฒนาการของพระเครื่องที่มีต้นเค้ามาจากการนำพุทธคุณเข้ามาผสมผสานกับสิ่งที่เป็นไสยขาว จนทำให้พระเครื่องเป็นตัวแทนของบรรดาเครื่องรางของขลังที่เคยมีมาแต่อดีตนั้น ก่อให้เกิดระบบความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ที่แยกไม่ออกว่าอะไรคือ ‘ศาสนา’ อะไรคือ ‘ไสยศาสตร์’

      “แต่สิ่งที่เป็นผลผลิตของ ‘พุทธพาณิชย์’ และ ‘ไสยพาณิชย์’ นั้น ไม่มีทางอันใดเลยที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมพบกับความสงบสุขของชีวิตด้านจิตวิญญาณได้ เพราะความต้องการของคนที่ลุ่มหลงเหล่านี้ก็คือความร่ำรวย และการมีชีวิตอยู่อย่างค้ำฟ้าโดยไม่รู้จักตายเป็นสำคัญ บรรดาพระเครื่อง และวัตถุมงคลจึงเป็นเสมือนสิ่งที่ตอบสนองความต้องการเพียง ‘โลกนี้’ เท่านั้น ไม่มีทางจะเข้าใจถึงเรื่อง ‘โลกหน้า’ และความ ‘หลุดพ้น’ อันเป็นความมุ่งหมายสำคัญของพระพุทธศาสนาได้”

      หากความนิยมพระเครื่องในเมืองไทยสะท้อนภาวการณ์อย่างที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวไว้จริง พระเครื่องที่ทั้งคุณค่า และความหมายได้ก้าวมาไกลจากจุดเริ่มต้นถึงเพียงนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนาแล้วก็เป็นได้

      และเราคงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันให้มากความว่า สารคดีเรื่องนี้จะเป็นการเปิดช่องให้มีคนโจมตีศาสนาพุทธอย่างที่คนในวงการห่วงกัน
Advertising Zone    Close

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...